บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สมุนไพรจีนป้องกันมะเร็งได้ผลดี


 สมุนไพรจีนป้องกันมะเร็งได้ผลดี
     
       ส่วนสมุนไพรจีนใช้รักษาโรคมะเร็งเด่นๆ คือ แปะฮวยจั่วจิเช่า หรือ หมากดิบน้ำค้าง พั้วกีไน้ โสม และเห็ดหอม
     
       ‘แปะฮวยจั่วจิเช่า’ เป็นพืชจำพวกหญ้า มีรสเผ็ดขมนิดๆ ฤทธิ์เย็นไม่มีพิษ สรรพคุณดับร้อนใน ดับพิษ ทำให้เลือดและลำไส้เย็น ลำไส้อักเสป ไทฟอยด์ ไอเพราะปอดร้อน ปวดฟัน และป้องกันมะเร็งได้ (ผู้ที่ธาตุไฟอ่อนห้ามรับประทาน)


     
       ‘พั๊วกีไน้’ เป็นยาขับถ่าย ถอนพิษ แก้มะเร็ง โดยคนเป็นมะเร็งสามารถนำมาต้มกินแทนน้ำ กระหายน้ำได้
     
       ‘โสม’ มีอีกสรรพคุณคือมีสารบางอย่างที่สามารถกำจัดและทำลายพืช รวมไปถึงสิ่งแปลกปลอมที่จะทำให้เซลล์เจริญเติบโตผิดปกติได้ มีฤทธิ์ป้องกันโรคมะเร็ง และยืดอายุผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ส่วนมากมักนำโสมมาใช้ในผู้ป่วยที่เข้ารักษาด้วยวิธีการเคมีบำบัด อีกทั้งเป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย (ควรรับประทานขณะท้องว่าง)


     
       ‘เห็ดหลินจือ’ หรือ เหล่งจูโกว มีรสหวาน ฤทธิ์ปานกลาง บำรุงแก้อาการอ่อนเพลีย ขับเสมหะ หอบหืด นอนไม่หลับ รักษาโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ป้องกันโรคตับอักเสบจากการขับสารพิษออกจากร่างกาย และป้องกันมะเร็ง
     
       ‘เห็ดหอม’ มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแพทย์แห่งรัฐเซาท์แคโรไรนา ประเทศสหรัฐอเมริกาและสถาบันมะเร็งแห่งชาติประเทศญี่ปุ่น รายงานว่า เห็ดหอมจะช่วยลดคลอเรสเตอรอลได้ดีเยี่ยม และเห็ดหอมยังมีสารเลนติแนน และสารริทาดินีน ต้านเซลล์มะเร็งได้ด้วย โดยเฉพาะมะเร็งในลำไส้และมะเร็งในกระเพาะอาหาร
     
       อย่างไรก็ดีในการรับประทานยาจีนที่ถูกต้อง ควรมีการต้มตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงขึ้นไป(อยู่ที่ตัวยามากหรือน้อย) และควรรับประทานก่อนอาหาร โดยการต้มด้วยหม้อดินและภาชนะเคลือบจะให้ผลดีมากกว่าภาชนะแสตนเลส ทั้งนี้การรับประทานสมุนไพรจีนเพื่อรักษาโรค จำเป็นต้องให้แพทย์แผนจีนเป็นคนวินิจฉัยตามสภาพร่างกายที่ไม่เหมือนกันในแต่ละคน หรือต้องได้รับคำแนะนำจากร้านยาสมุนไพรจีนโดยเฉพาะ
     
       นอกจากนี้ สามารถหาอ่านข้อมูลสมุนไพรจีนเพิ่มเติมได้จาก ยาจีนและอาหารบำรุงสุขภาพ เรียบเรียงโดยมิ่งมิตร นวรัตน์2542 ,ยาสมุนไพรจีน 100 ชนิด รวบรวมโดย บุญชัย ฉัตตะวานิช,ยาจีน โดย วีระชัย มาศฉมาดล ทัศนีย์ เมฆอริยะ2531 ,มหัศจรรย์แห่งโสม เรียบเรียงโดยนวลปราง ฉ่องใจ2537 ,และจิบชา เพิ่มพลัง ต้นโรค หยุดมะเร็ง เรียบเรียงโดยภานุทรรศน์ 2544

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ไขมันประเภทต่างๆ

ไขมันประเภทต่างๆ


ไขมันแบ่งได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

คอเลสเตอรอล เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ เป็นองค์ประกอบสำคัญในเยื่อของสมองและระบบประสาท ใช้สร้างกรดน้ำดี ทั้งยังเป็นวัตถุดิบในการสร้างฮอร์โมนบางชนิด เช่น ฮอร์โมนเพศชาย ฮอร์โมนเพศหญิง และฮอร์โมนคอร์ติโซน และเป็นส่วนประกอบในโมเลกุลของวิตามิน ร่างกายสามารถสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นเองได้จากตับ คอเลสเตอรอลที่ได้จากอาหารมีเฉพาะในอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น มีมากในอาหารบางชนิด เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ มันสัตว์ สัตว์น้ำบางชนิด



ฟอสโฟไลปิด เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายใช้เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ เช่น เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์ผนังหลอดเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นสารลดความตึงผิวที่อยู่ภายในถุงลมของปอด ถ้าขาดสารนี้เสียแล้ว ถุงลมปอดก็ไม่อาจพองตัวได้ในยามที่เราสูดลมหายในเข้าไป ฟอสโฟไลปิดจึงเป็นทั้งสารที่ร่างกายต้องใช้ในขณะทำงานตามสรีรภาพของร่างกาย

ไตรกลีเซอไรด์ ส่วนใหญ่ไขมันที่เรากินไปทั้งหมด ก็คือไตรกลีเซอไรด์ ช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่
ร่างกาย และยังเป็นตัวทำละลายสำหรับวิตามินกลุ่มมี่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อีและเค
ไตรกลีเซอไรด์ จะประกอบด้วย ไตรกลีเซอรอลกับกรดไขมันอีก 3 โมเลกุล

กรดไขมัน แบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ตามโครงสร้างทางชีวเคมี คือ

กรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acid) จะมีอะตอมของคาร์บอนที่ต่อกันเป็นลูกโซ่ด้วยพันธะเดี่ยวเท่านั้น  โดยที่แขนของคาร์บอนแต่ละตัวจะจับอะตอมของไฮโดรเจนเต็มไปหมด ไม่มีแขนว่างอยู่เลยไขมันชนิดนี้จะมีอยู่ในอาหารจำพวกที่ เราเห็นเป็นชั้นสีขาวติดอยู่ในเนื้อสัตว์ หรือหนังสัตว์ปีก ไข่แดง น้ำมันหมู เนย นม ผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงน้ำมันที่ได้จากพืชบางชนิดก็เป็นแหล่งไขมันอิ่มตัวด้วย เช่น กรดไขมัน พาลมิติก (palmitic) ที่มีมากในน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ในไขมันสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเนย กรดไขมันชนิดนี้จะมีสถานะอันเฉื่อยเนือยในกระบวนการเคมีของร่างกาย ถ้าไม่ถูกย่อยไปใช้เป็นพลังงานก็มีแนวโน้มที่จะตกตะกอนในหลอดเลือด ทำให้ไขมันในเลือดสูง เกิดความเสี่ยงที่จะอุดตันในหลอดเลือดได้ เป็นต้นเหตุของโรคความดันโลหิตสูง หัวใจและสมองขาดเลือด เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ

กรดไขมันไม่อิ่มตัว(unsaturated fatty acid)  จะมีอะตอมของคาร์บอนที่เรียงตัวกันเกิดมีบางตำแหน่งที่จับไฮโดรเจนไม่เต็มกำลังเกิดมีแขนคู่ (double bond) อยู่บางตำแหน่ง ทำให้มันมีความว่องไวในปฏิกิริยาทางเคมีพร้อมที่จะเปิดรับปฏิกิริยาต่าง ๆ ด้านหนึ่งก็เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย การบริโภคไขมันชนิดนี้จะช่วยให้     คอเลสเตอรอลในเลือดลดลงแต่อีกด้านหนึ่งก็พร้อมที่จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกลายเป็นอนุมูลอิสระตัวก่อปัญหาทางสุขภาพ

2.1 กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว เรียกว่า monounsaturated fatty acid (MUFA) เป็นกรดไขมันที่มีธาตุคาร์บอนต่อกันด้วยพันธะคู่เพียงหนึ่งตำแหน่ง การรับประทานอาหารไขมันประเภทนี้ ทดแทนไขมันอิ่มตัวจะช่วยลดระดับ LDL Cholesterol ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดีก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบ
* อาหารที่มีกรดไขมันชนิด MUFA ได้แก่ อะโวคาโด ถั่วลิสง น้ำมันมะกอก และคาโนลา

2.2 กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน เรียกว่า polyunsaturated fatty acid (PUFA) หมายถึง กรดไขมันที่มีธาตุคาร์บอนต่อกันด้วยพันธะคู่อยู่หลายตำแหน่ง หากรับประทานแทนไขมันอิ่มตัว จะไม่เพิ่มระดับไขมันในร่างกาย

* อาหารที่มีไขมันชนิด PUFA ได้แก่ น้ำมันพืชทั้งหลาย เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันดอกคำฝอย

น้ำมันพืชทุกชนิดมีส่วนประกอบของไขมันอิ่มตัวไขมันไม่อิ่มตัวแบบโมเลกุลเดียว และไขมันไม่อิ่มตัวแบบหลายโมเลกุลในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป

พึงมีข้อระวังอย่างหนึ่งว่า น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวยิ่งสูง ยิ่งไวต่อการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เกิดเป็นอนุมูลอิสระอันเป็นสารพิษที่บั่นทอนสุขภาพ โดยเฉพาะการทำให้ร้อนจัด เช่น การทอด ร้อนจัด หรือใช้เป็นน้ำมันทอดซ้ำ ๆ เพราะความร้อนในการทอดครั้งแรกก็ได้ทำลายแขนคู่ในน้ำมันไปแล้วดังนั้นจึงไม่ควรปรุงอาหารด้วยความร้อนสูงจัดเกินไป

ในปี 1993, คณะกรรมการจาก Harvard University School of Public Health และ the Oldways Preservation and Exchange Trust, a Boston based educational organization ได้ทบทวนหลายๆการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่ามีความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของชาวเมดิเตอร์เรเนียน (แถบกรีซ ทางใต้ของอิตาลี และทางเหนือของแอฟริกา) กับการลดอุบัติการณ์การเป็นโรคหัวใจและมะเร็ง อาหารของชาวเมดิเตอร์เรเนียน มีพาสต้า พร้อม ผักสด ผลไม้ ถั่ว เมล็ดพืช อาหารส่วนใหญ่ปรุงด้วยน้ำมันมะกอก (แหล่งไขมันไม่อิ่มตัวแบบหลายโมเลกุลสูงที่สุด) ส่วนเนื้อสัตว์มีตำแหน่งบนโต๊ะอาหารเป็นเพียงเครื่องเคียงไม่จัดเป็นอาหารจาน หลักในแต่ละมื้อ

การเลือกน้ำมันปรุงอาหาร

ควรเลือกน้ำมันพืชชนิดที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวโมเลกุลเดี่ยวในปริมาณสูง และมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวแบบหลายโมเลกุลปานกลาง และมีกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ ซึ่งน้ำมันพืชก็จะเหม็นหืนน้อยกว่าน้ำมันจากสัตว์ เพราะในน้ำมันพืชมีวิตามินอี ที่เป็นตัวต้านการทำปฏิกริยาระหว่างออกซิเจนและคาร์บอนของโมเลกุลในน้ำมันพืช
แล้วจะกินอย่างไรให้มีสุขภาพดี


คำตอบคือไม่ควรกินไขมันทั้งหมดเกิน 30% ของปริมาณแคลอรีที่ร่างกายได้รับในแต่ละวัน     หมายถึง ไขมันทุกชนิดรวมกัน คือ ไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัวแบบโมเลกุลเดี่ยวและไขมันไม่อิ่มตัวแบบหลายโมเลกุล และไม่ควรรับไขมันอิ่มตัวเกิน 10% ของปริมาณแคลอรีทั้งหมดต่อวัน รับประทานอาหารในแต่ละวันให้หลากหลาย และให้พลังงานรวมแล้วเพียงพอ ต่อการรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ ไขมันจากสัตว์ หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ที่มีมันติดมากๆ เช่น หมูสามชั้น เพราะกรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น แม้ว่าน้ำมันพืชที่มีปริมาณไขมันไม่อิ่มตัวสูง จะดีต่อสุขภาพของเรามากกว่าไขมันอิ่มตัวก็ตามแต่ก็ควรกินในปริมาณพอเหมาะ หากได้รับปริมาณมากเกินไป จะไม่ต่างอะไรกับการกินอาหารที่มีไขมันสูง คือเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีน้ำหนักตัวเกินเป็นโรคอ้วน ก่อให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ปัญหาหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคมะเร็ง

From แพทย์หญิงสายพิณ  โชติวิเชียร

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กลิ่นตัวเเรงเกิดจากอะไร


กลิ่นตัวเเรงเกิดจากอะไร

     คนเราแต่ละคนและแต่ละเชื้อชาติจะมีกลิ่นตัว เป็นลักษณะเฉพาะของคนนั้นๆ บางคนก็มีกลิ่นตัวค่อนข้างจะเป็นเสน่ห์ คือ กลิ่นตัวหอม น่าสูดดมในขณะที่อีกหลายคนจะมีกลิ่นตัวไม่สู้จะน่าคบหาสมาคมเท่าใดนัก

       เพราะมีกลิ่นตัวแรง แต่คนที่น่าสงสารที่สุดก็คือผู้ที่มีกลิ่นตัวเหม็นจนเป็นที่น่ารังเกียจของสังคม
ในปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบว่าคนที่มีกลิ่นตัวเหม็นมากๆ คล้ายกลิ่นของปลาเน่า คือคนที่เป็นโรค “Fish-Malodor Syndrome”ซึ่งมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปยังลูกหลานได้ด้วย โดยวิธีทางพันธุกรรมที่ชื่อว่า “Mendelianautosomal recessive transmission”



      คนที่เป็นโรค Fish-Malodor Syndrome (FOS ) หรือที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Primary trimethylaminuria นั้นนับว่าเป็นผู้ที่โชคร้ายมากเพราะเป็นที่รังเกียจของสังคมและบุคคลทั่วไปแม้กระทั่งในสมาชิกของครอบครัวตนเอง คนเหล่านี้มักจะพยายามไปหาแพทย์ พระ หรือแม้กระทั่งหมอผีเพื่อที่จะทำให้กลิ่นตัวของตนเองทุเลาลง บางคนที่หมอทั้งหลายรักษาแล้วไม่หาย ก็อาจจะได้รับการอธิบายว่าชาติก่อนคงไปกระทำบาปอะไรไว้ต่างๆ นานา และบางคนที่ไปพบแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งไม่เข้าใจถึงพยาธิสภาพของการเกิดกลิ่นตัวเหม็นนี้ ก็อาจจะแนะนำให้ผู้โชคร้ายเหล่านี้รับประทานยาคลายเครียดยาคลายกังวล หรือยากล่อมประสาท ซึ่งเป็นที่น่าสลดใจมาก เพราะว่าหลังจากการรับประทานยาเหล่านี้เข้าไปแล้ว ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ป่วยมีสภาวะทางจิตไม่ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้กลิ่นตัวเหม็นขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

ในสหรัฐอเมริกาและในสหราชอาณาจักร ผู้ป่วยที่เป็น FOS คนหนึ่งๆ อาจจะต้องเสียค่ารักษาไปเป็นเงินถึงกว่าหนึ่งแสนดอลล่าร์ แต่ก็ยังไม่อาจทำให้อาการกลิ่นตัวเหม็นลดลง หลายคนมีอาการทางจิต และคิดสั้นถึงกระทั่งคิดจะฆ่าตัวตายก็มี สำหรับในประเทศทางแถบเอเซียนั้นอุบัติการณ์ของ FOS นั้นคงไม่น้อยไปกว่าร้อยละ 1 และก็ไม่ยากนักที่จะพบคนที่เป็นโรคนี้ในบ้านเราเพราะว่าในประเทศไทยนั้นประกอบไปด้วยชนชั้นหลายเผ่าพันธุ์ และการแต่งงานของประชาชนก็เป็นไปอย่างเสรี ไม่มีสิ่งใดกีดกั้น จึงเป็นเรื่องง่ายที่เกิดการกลายพันธุ์ของยีนส์ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมที่ทำหน้าที่ควบคุมการเกิดโรคนี้

ผู้เขียนได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องโรคกลิ่นตัวเหม็น หรือ FOS มามากว่า 15 ปีแล้ว โดยการกระตุ้นจาก Professor Robert L. Smith จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ในประเทศสหราชอาณาจักร และก็รู้สึกว่าจะเป็นผู้ที่โชคดี ที่ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารอันทรงเกียรติ และได้รับรางวัล ”The 1998 Wellcome Trust Award for a Study of Rare Disease” จากกองทุน Wellcome Trust ของประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติประวัติแก่ผู้เขียนและประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะได้รับรางวัลนี้แล้ว ยังได้รับเชิญให้ไปบรรยายในการประชุมระดับโลก เรื่อง “ การมีกลิ่นตัวเหม็นของร่างกาย (Fish-Malodor Syndrome )” เมื่อวันที่ 29-30 มีนาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งจัดขึ้นที่ National Institutes of Health (NIH ) เมือง Bethesda ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการวิจัยจาก NIH และกองทุน Wellcome Trust อีกด้วย

สาเหตุของการเกิดโรค

กลิ่นตัวของคนที่เป็นโรค FOS นั้นจะเหมือนกันกับกลิ่นของปลาเน่า ซึ่งโดยแท้จริงแล้วก็คือกลิ่นของสารเคมีชื่อ trimethylamine (TMA ) ที่ถูกกำจัดออกมาจากเหงื่อ ปัสสาวะ และน้ำคัดหลั่งของร่างกายเรานั่นเอง สาร TMA นี้เป็น metabolic product ของอาหารต่างๆ ที่เรารับประทานกัน และจะมีมากในอาหารประเภทไข่แดง เนื้อสัตว์ และถั่วหลายชนิด กล่าวโดยย่อก็คือเมื่อเรารับประทานอาหารดังกล่าวเข้าไป แบคทีเรียในทางเดินอาหารซึ่งมีอยู่มากกว่า 70 ชนิด ก็จะเปลี่ยนแปลงสารเคมีที่มีอยู่ในอาหาร 3 ตัวคือ choline,betaine และ carnitine ให้เป็น TMA ซึ่งก็จะถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายโดยผ่านทางกระแสเลือด

ในคนที่ไม่เป็นโรค FOS นั้น TMA ก็จะถูกเอนไซม์ของตับชื่อ flavin-containing monooxygenase ฟอร์มที่ 3 (FMO3 ) ทำลายด้วยการเปลี่ยนเป็นสารชื่อ TMA-0 (trimethylamine N-oxide ) ซึ่งเป็นสารที่ละลายน้ำได้ดีและไม่มีกลิ่นเหม็นเลย แล้วก็ถูกขับออกร่างกายทางน้ำคัดหลั่งต่างๆ รวมทั้งในปัสสาวะด้วย แต่ในคนที่เป็นโรค FOS นั้น TMA จะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงเลยเพราะ FMO3 gene ของตับไม่สามารถสร้างเอนไซม์ตัวนี้ได้เพียงพอ อันเนื่องมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ดังนั้น TMA จึงถูกกำจัดออกมาจากร่างกายในปริมาณที่มาก จึงทำให้ปัสสาวะ เหงื่อ และลมหายใจมีกลิ่นเหม็นมากคล้ายกลิ่นปลาเน่า ซึ่งทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้สามารถสรุปเป็นกลไกการเกิดโรคกลิ่นตัวเหม็นดังแสดงไว้ในรูปที่ 1

ยังมีอีกหลายสภาวะที่ทำให้ FMO3 ของร่างกายทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น ได้รับยาบางชนิด (steroids, TCAs, ranitidine ), โรคตับพิการ โรค Turner’s syndrome, Noonan’s syndrome หรือแม้กระทั่งในระหว่างการมีประจำเดือนของสตรี เป็นต้น


ที่จริงแล้ว TMA นี้ไม่ใช่ตัวที่จะคุกคามการดำเนินชีวิตของคนเรา แต่มันก็สามารถทำให้คนที่เป็นโรค FOS นี้หลายรายพยายามที่จะหาวิธีรักษาและขจัดมัน เช่น การสูบบุหรี่จัดเพื่อจะบดบังกลิ่นเหม็นของ TMA การใช้ยาดับกลิ่น ใช้สมุนไพรหรือใช้น้ำหอม เป็นต้น บ่อยครั้งที่แพทย์ไม่เข้าใจกลไกของการเกิดโรคกลิ่นตัวเหม็น ก็จะแนะนำวิธีการรักษาที่ผิดๆ เช่น ผ่าตัดต่อมเหงื่อ ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ผ่าตัดมดลูก หรือให้รับประทานยาจำพวก benzodiazepines เข้าไปเป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ผลเลย ยิ่งกว่านั้นยากล่อมประสาทและยาคลายเครียดทั้งหลาย ยังให้ผลร้ายแก่ผู้ที่มีกลิ่นตัวเหม็นเหล่านี้อีกด้วย กล่าวคือทำให้กลิ่นตัวเหม็นมากขึ้น เพราะมันไปยับยั้งการทำงานของ FMO3 ซึ่งยังส่งผลให้ระดับของ TMA ในร่างกายสูงมากขึ้นด้วย



วิธีวินิจฉัย

โดยทั่วไปคนปกติจะกำจัด TMA ออกมาทางปัสสาวะโดยเฉลี่ยวันละ 30-50 มิลลิกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะอาหารที่รับประทาน แต่ปริมาณของ TMA นี้จะนำมาใช้เป็นตัวกำหนด บอกว่าใครเป็นโรค FOS คงไม่ได้ เพราะว่าค่าของมันในแต่ละวันเปลี่ยนแปลงได้ง่ายสำหรับแต่ละคน

ดัชนีที่น่าจะเป็นตัวชี้บอกของโรคนี้ก็คือค่า metabolic ratio (MR ) ซึ่งได้แก่อัตราส่วน TMA/TMA-O ของสารทั้งสองตัวนี้ที่ถูกกำจัดออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งในคนปกติจะมีค่าน้อยกว่า 1.0 เสมอ แต่สำหรับคนที่เป็นโรค FOS ค่านี้ก็จะสูงมากกว่า 1.0 เสมอเช่นกัน อาจจะสูงถึง 5.0-6.0 ด้วยซ้ำไป ทั้งนี้เพราะในคนปกติ TMA จะถูกเอนไซม์ FMO3 ของตับทำลายเกือบร้อยละ 100 จึงทำให้ค่า MR ต้องน้อยกว่า 1.0 เสมอ เช่นกัน

อย่างไรก็ดี นอกจากจะใช้ค่า MR สำหรับการตรวจวินิจฉัยแล้ว ยังต้องซักประวัติและตรวจสอบกลิ่นตัวของผู้ป่วยโดยการดมด้วยจมูกโดยตรงอีกด้วยเพราะบางคนอาจมีกลิ่นตัวเหม็นไม่มาก ทั้งๆที่มี MR ค่อนข้างสูง ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยอาจจะมีการรักษาและดูแลอนามัยของตนเองดีมาก แต่ถ้าจะให้แน่นอนแล้วจะต้องทำ genotyping test เพื่อยืนยัน โดยพบว่า mutation เกิดขึ้นที่ exon ใด exon หนึ่งในโครโมโซมคู่ที่ 1 เช่น มี missense mutationPro153Leu เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคนี้รายหนึ่ง เป็นต้น

วิธีการรักษา

เป็นที่น่ายินดีว่าในขณะนี้มีวิธีการรักษา FOS ที่ถูกหลักวิชาการ กล่าวคือพยายามลดอาหารที่มี choline สูงเพราะสารตัวนี้จะถูกแบคทีเรียในทางเดินอาหารเปลี่ยนไปเป็น TMA แล้วถูกดูดซึมเข้าร่างกาย ตัวอย่างอาหารดังกล่าว เช่น ปลาเค็ม เนื้อสัตว์ ถั่วเหลือง ไข่แดงและถั่ว เป็นต้น (ตารางที่ 1 ) การรักษาอีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้ยาปฎิชีวนะ เช่น metronidazole (Flagyl ) เพื่อไปยับยั้งการทำงานของแบคทีเรียดังกล่าว แต่วิธีนี้อาจจะเสี่ยงต่อการแพ้ยา หรือการเกิดผลข้างเคียงอันเกิดจากการใช้ยา (ตารางที่ 2 ) สำหรับวิธีที่ดีที่สุดที่หลายสถาบันกำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ก็คือการตัดต่อยีนส์ (gene therapy ) เพื่อเร่งให้ร่างกายสามารถผลิต FMO3 ให้ทำงานได้เช่นปกติ

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อัมพาตเกิดจากอะไร

อัมพาตเกิดจากอะไร


 ในปัจจุบันที่คนเรามีอายุยืนขึ้น เนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น การที่เรามีการดูแลสุขภาพร่างกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การพักผ่อนที่เพียงพอและการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น



          ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราละเลยสิ่งเหล่านี้ เช่น นอนดึก สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ทำให้เกิดเจ็บป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคตับ และในบรรดาโรคต่าง ๆ เหล่านี้ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคหนึ่งที่ไม่เพียงมีผลต่อผู้ป่วยเอง แต่ยังมีผลกระทบอย่างมากต่อญาติของผู้ป่วยด้วย ทั้งในแง่เวลา ค่ารักษาพยาบาลและการขาดรายได้ของญาติที่ต้องคอยพาผู้ป่วยมาหาแพทย์ ดังนั้นโรค อัมพาต จึงมีผลกระทบอย่างมาก ต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย



 อัมพาต คืออะไร

          อัมพาต (Stroke) เป็นคำที่ใช้เรียกอาการอ่อนแรงครึ่งซีกหรือแตกก็ของร่างกาย หรือ ครึ่งท่อนล่างของร่างกาย ที่มีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือไขสันหลัง ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดตีบหรือแตกก็ได้

          องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า

          "เป็นอาการที่เกิดอย่างปัจจุบันทันที ต่อการทำงานของสมองบางส่วน หรือทั้งหมด โดยที่อาการนั้นเป็นอยู่นาน 24 ชม. หรือทำให้สูญเสียชีวิต ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคของหลอดเลือดเท่านั้น"

          คำว่า " อัมพาต" เรามักจะหมายถึง อาการอ่อนแรงจนไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้เลย

          ส่วนคำว่า " อัมพฤกษ์ " เราหมายถึงอาการอ่อนแรงที่ผู้ป่วยยังพอขยับร่างกายส่วนนั้นได้บ้าง โดยทั่วไปเรามักจะนึกว่า อัมพาต อัมพฤกษ์ จะต้องมีอาการอ่อนแรงเสมอ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว การที่มีอาการชา หรือมีความรู้สึกลดน้อยลงครึ่งซีก ทั้งในแง่การรับรู้สัมผัส ความเจ็บปวด ความรู้สึกร้อนหรือเย็นที่ลดลง ก็เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองได้ทั้งนั้น

          อาการจะต้องเกิดในทันทีทันใด เช่น ตื่นนอนเช้า ขณะกำลังทำงาน หรือกำลังทำกิจวัตรต่าง ๆ แล้วมีอาการชา หรืออ่อนแรงในบางคนอาจจะมีอาการเตือนมาก่อน เช่น มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ตาข้างหนึ่งข้างใดมองไม่เห็นชั่วระยะเวลาสั้น ๆ แต่เป็นนาที หรือเป็นชั่วโมง แล้วอาการดีขึ้นเป็นปกติ ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีการเตือนแล้วรีบมาพบแพทย์ ก็จะมีประโยชน์ในแง่ของการป้องกันการเกิด อัมพาต อัมพฤกษ์ได้

 อัมพาต พบในผู้สูงอายุบ่อยแค่ไหน

          จากการศึกษาของต่างประเทศพบว่า อัมพาต จะพบมากขึ้นตามอายุทั้งเพศชายและหญิง เช่น

           อายุ 45-54 ปี พบ อัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 1,000 ราย

           อายุ 56-64 ปี พบ อัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 100 ราย

           อายุ 75-84 ปี พบ อัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 50 ราย

           อายุมากกว่า 85 ปี พบ อัมพาตประมาณ 1 ต่อ ประชากร 30 ราย

          นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง ในช่วงอายุ 45-64 ปี แต่ถ้าอายุมากกว่า 65 ปีแล้ว โอกาสในการเกิด อัมพาต จะค่อนข้างเท่ากัน

 อะไรเป็นสาเหตุของ อัมพาต

          จากการศึกษาพบว่า ความดันโลหิตสูงโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เบาหวาน สูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด อัมพาต ทั้งสิ้น เช่น ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ มีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่าคนไม่เป็นประมาณ 1-3 เท่า เป็นต้น ดังนั้น การควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 ทำอย่างไรจะป้องกัน อัมพาต ได้

          ดังได้กล่าวมาแล้ว การควบคุมปัจจัยเสี่ยงล้วนสามารถป้องกันการเกิด อัมพาต ได้ การป้องกันในระยะยังไม่มี อัมพาต เป็นสิ่งที่แพทย์สามารถให้คำแนะนำได้

           ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัด มีประวัติเบาหวานในครอบครัว  จำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกาย วัดความดันโลหิต เอ็กซเรย์ปอด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือดหาระดับน้ำตาล ไขมัน ตลอดจนการตรวจหาเชื้อซิฟิลิสในเลือด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะเป็นการทำให้เราทราบว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ เมื่อพบว่ามีโรคเหล่านี้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะทำให้การควบคุมและการป้องกันแทรกซ้อนของโรคสามารถทำได้ง่าย

           สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีโรค อัมพาต อยู่แล้ว และกำลังรักษาอยู่ สิ่งที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้อาการนั้นดีขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดอัมพาตซ้ำ การควบคุมอาหาร เลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานควรควบคุมอาหารรสหวานทุกชนิด เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ผลไม้รสหวานทุกชนิด อาหารจำพวกแป้ง เช่นข้าว ขนมปัง เป็นต้น แนะนำให้รับประทานผลไม้จำพวกส้ม หรือมะละกอ

           ส่วนผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ถ้ามีไขมันโคเลสเตอรอลสูง ควรงดอาหารจำพวกไข่แดง ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ปลาหมึกหอยนางรม กุ้ง เป็นต้น

           แต่ถ้ามีไขมันไตรกรีเซอไรด์สูง ควรงดอาหารจำพวกแป้งดังกล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ควรรับประทานยาและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหมั่นไปพบแพทย์เป็นระยะ ๆ จะช่วยให้อาการเหล่านั้นดีขึ้น และยังป้องกันไม่ให้เกิด อัมพาต ซ้ำ

 ผลที่เกิดกับผู้ป่วย อัมพาต

           ผู้ป่วยที่เป็น อัมพาต ในระยะแรกพบว่า จะมีอาการเลวลงได้ถึง 30%  ถ้ามีโรคแทรกซ้อน เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ปอดบวม หรือชัก ก็ยิ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นไปอีก ในช่วงเดือนแรกหลังเกิดอาการพบว่ามีอัตราตายถึง 25% และใน 1 ปีมีอัตราตายถึง 40% โอกาสที่จะเป็น อัมพาต ซ้ำในระยะ 1 เดือนแรกหลังเกิด อัมพาต พบได้ถึง 3-5% และ 10% ใน 1 ปี

           เมื่อเราติดตามผู้ป่วยเหล่านี้ต่อไปจะพบว่า ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานได้ถึง 50% ซึ่งในจำนวนนี้ มีถึง 25%  ที่ต้องอยู่ในสถานพยาบาลเป็นเวลานาน นอกจากนี้ 30% ของผู้ป่วยจะเกิดโรคสมองเสื่อมตามมา

            จะเห็นได้ว่า โรคอัมพาต เป็นโรคที่ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งในแง่ของตัวผู้ป่วยเอง ญาติพี่น้องที่จะต้องดูและช่วยเหลือ ทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในครอบครัวและส่วนรวม การป้องกันโรคอัมพาตสามารถทำได้ โดยการคอยตรวจสุขภาพร่างกายสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้เราสามารถมีชีวิตที่มีความสุข ช่วยเหลือตนเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของครอบครัว

ที่มา kapook

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อาหารบำรุงลำไส้

อาหารบำรุงลำไส้


ใบแมงลัก



น้ำมันหอมระเหยจากใบแมงลักเป็นยาช่วยย่อยชั้นเซียน ลำไส้ใครไม่ค่อยทำงานจนท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำ ลองชิมใบแมงลักสักสี่ห้าใบแล้วจะติดใจ

พริกสด



ความเผ็ดซู่ซ่าของพริกคืออยากกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งน้ำลายออกมา จากนั้นเอนไซม์ของน้ำลายจะช่วยย่อยแป้งให้อ่อนตัวลง กระเพราะกับลำไส้จะได้ไม่ต้องทำงานโหลดจนเกินไป

หอมแดง



แค่กินหอมแดงอย่างเดียว ลำไส้คุณก็ยิ้มแล้ว เพราะเท่ากับซื้อหนึ่งได้ถึง สี่ ได้แก่สารฟลาโวนอยส์ ไกลโคไซต์ เพคติน และกลูโคคินิน 4 สารบำรุงลำไส้และช่วยย่อยและทำให้เจริญอาหาร คุ้มกว่านี้มีอีกไหม

ใบกระเพรา



ถึงชื่อเสียงของกระเพราจะมือมนไปมาก ตั้งแต่พัดกะเพราถูกตั้งชื่อว่าผักสิ้นคิด แต่สรรพคุณของมันยังแจ่มเหมือนเดิม โดยเฉพาะสรรพคุณในการขับน้ำดีในกระเพราะอาหารมาช่วยย่อยอาหารที่เรากินเข้าไป

ตะไคร้



ให้เคี้ยวเดี๋ยวกินยากเกินไปหน่อย แต่ถ้าทำเป็นชาตะไคร้ หรือซอยบางๆกินกับยำ คงไม่ลำบากมากเกินไปสำหรับคนรักสุขภาพ สรรพคุณของตะไคร้เริ่ดไม่แพ้ใบกะเพรา คือช่วยขับน้ำดีออกมาย่อยอาหารเหมือนกัน สาวๆที่มีปัญหาอาหารไม่ย่อยไม่ควรพลาด

กระเทียม



มีสูตรเด็ดเคล็ดลับสำหรับคนที่มีอาการอาหารไม่ย่อยมาฝาก ให้อากระเทียมมา 5 กลีบแล้วสับละเอียด กินทันทีหลังอาหาร กระเทียมมจะช่วยกระตุ้นให้กระเพราะอาหารจอมขี้เกรียดของคุณยอมย่อยอาหารมื้อนั้นแต่โดยดี ถ้ากินทุกวันไม่นานอาการไม่ย่อยก็จะหายไปเอง

ที่มา http://herbal.muasua.com

วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สารก่อมะเร็งที่พบในอาหารมีอะไรบ้าง

สารก่อมะเร็งที่พบในอาหารมีอะไรบ้าง

 อาหารที่ปรุงด้วยความร้อนสูง
     สารก่อมะเร็งที่พบในอาหารประเภทปิ้ง ย่าง และรมควันนั้น มีชื่อว่าสารพีเอเอช (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon - PAH) ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของไขมันในเนื้อสัตว์ ที่หยดลงไปโดนถ่านไฟ จนทำให้เกิดเป็นควันที่มีพิษเป็นสารก่อมะเร็งและลอยกลับขึ้นมาจับที่เนื้อ สัตว์บนเตา หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย จนเป็น สาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหารได้



     - ทั้งนี้ ควรนำเนื้อสัตว์มาหั่นส่วนที่เป็นไขมันออกเสียก่อน
      - จากนั้น จึงนำไปต้มหรืออบให้สุกพอประมาณ แล้วจึงนำไปปิ้งหรือย่าง
      - โดยนำกระดาษฟอยล์มารองหรือห่อหุ้มเนื้อเอาไว้ เพื่อช่วยลดปริมาณไขมันที่อาจหยดลงไปในเตา พร้อมกับใช้ไฟเพียงอ่อน ๆ หรือเลือกใช้เตาไฟฟ้าไร้ควันซึ่งจะควบคุมระดับความร้อนได้ดีกว่าการใช้เตา ถ่าน
      - จากนั้นก็ควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมออกก่อนนำมารับประทาน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้
     นอกจากนี้ สำนักงานอาหารแห่งประเทศสวีเดนยังทำการวิจัยพบว่า อาหารที่ถูกทอดหรืออบด้วยความร้อนสูง เช่น มันฝรั่งทอด ขนมปังกรอบและบิสกิตนั้นมีสารอะคริลาไมด์ (Acrylamide) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งประกอบอยู่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่ทอดในน้ำมันที่ถูกใช้ปรุงอาหารเกินสองครั้งนั้นพบ ว่า มีสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการแตกตัวของน้ำมันที่เสื่อมสภาพ ซึ่งหากบริโภคติดต่อกันก็อาจเข้าไปสะสมในร่างกายและเพิ่มความเสี่ยงต่อการ เป็นมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ขณะที่ผู้ปรุงอาหารซึ่งสูดดมไอของน้ำมันเข้าไปก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรค มะเร็งปอดเพิ่มขึ้นเช่นกัน
อาหารไขมันสูง
      ไขมันที่พบมากในสัตว์เนื้อสีแดง เช่น เนื้อวัว หรือเนื้อหมูนั้นเป็นไขมันอิ่มตัว ที่ยังพบมากในไข่แดง นม และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ชีส และโยเกิร์ต เป็นต้น รวมถึงน้ำมันที่ได้จากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันแปรรูป เช่น มาการีน เนยขาว ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายผลิตคลอเรสเตอรอลมากขึ้น จนเป็นสาเหตุของภาวะหลอดเลือดตีบแล้ว ไขมันประเภทนี้ยังมีส่วนเชื่อมโยงต่อการก่อตัวของมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่ออาหารประเภทนี้ถูกนำไปปรุงในอุณหภูมิที่ร้อนจัดก็จะก่อให้เกิด สารก่อมะเร็งที่มีชื่อว่าเอชซีเอ (Heterocyclic Amine - HCA)
อาหารแปรรูป และอาหารปรุงแต่ง

      โดยทั่วไปแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อเค็ม กุนเชียง ไส้กรอก เบคอน มักจะมี "ดินประสิว" ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า "โปตัสเซียมไนเตรต" เป็นส่วนประกอบในอาหาร เพราะสารดังกล่าวนี้จะช่วยคงสภาพให้เนื้อสัตว์มีสีแดงดูน่ารับประทานได้ นานกว่าปกติ และมีคุณสมบัติเป็นสารกันบูดเช่นเดียวกับสารกันบูดประเภทไนไตรต์ และโซเดียมไนเตรต ซึ่งจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่มักเกิดในอาหารที่ได้ รับการบรรจุอยู่ในภาชนะที่ปิดสนิท เช่น อาหารกระป๋อง

     แม้จะมีประโยชน์ในการช่วยถนอมอาหาร แต่สารเหล่านี้ก็จัดเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งหากร่างกายได้รับอาหารที่มีสารกันบูดเหล่านี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในกรณีอาหารที่ได้รับการใส่สารกันบูดในปริมาณเกินกำหนดด้วยนั้น ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากขึ้นตามไปด้วย

อาหารปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตราย
     ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ได้รับการแต่งสี กลิ่น รส ที่อาจเป็นอันตราย เช่น การใช้สีที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร อย่างสีย้อมผ้า หรือแม้กระทั่งการใช้สีผสมอาหารในปริมาณที่มากเกินไป รวมถึงอาหารที่อาจปนเปื้อนสารฆ่าแมลงและสารเคมีแปลกปลอมอื่น ๆ ซึ่งจะสังเกตได้จากลักษณะของอาหารที่ผิดจากธรรมชาติไปมาก เช่น มีสีฉูดฉาดจัดจ้านผิดปกติ หรือพืชผักผลไม้ที่ไม่มีร่องรอยการกัดกินจากแมลงเลย เป็นต้น
อาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง

      แม้ว่าสารโซเดียมคลอไรด์ หรือที่เรารู้จักกันดีในรูปแบบของเกลือที่นิยมนำมาประกอบอาหารนั้นจะให้ ไอโอดีน ซึ่งช่วยป้องกันโรคคอพอก ได้ก็ตาม แต่การบริโภคอาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูงเกินไป ซึ่งรวมถึงอาหารหมักดองด้วยเกลือ และอาหารที่ใส่ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ก็อาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร และหลอดอาหารได้ เพราะเมื่อร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป ก็จะส่งผลให้ปริมาณเกลือโพแทสเซียมลดลง ซึ่งจะทำให้ ภูมิต้านทานในร่างกายลดลงตามไปด้วย

อาหารที่มีเชื้อรา

      เชื้อราที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุดคือ เชื้อราที่ผลิตสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในอาหารที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร เช่น เมล็ดธัญพืช อย่างถั่ว หรือข้าวโพด รวมถึงพริกแห้ง หอม กระเทียม และอาหารจำพวกนมและขนมปัง ที่ถูกเก็บไว้นานจนเกินไป โดยเฉพาะในที่ที่อากาศร้อนและมีความชื้นสูง หากรับประทานเข้าไปจะก่อให้เกิดการสะสมของสารอะฟลาท็อกซินที่ตับ และอาจพัฒนาเป็นมะเร็งตับในที่สุด
เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์

      สารเอทานอล ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เมื่อถูกย่อยสลายในร่างกายแล้ว จะกลายเป็นสารที่มีชื่อว่า อะเซทแอลดีไฮด์ ซึ่งมีผลทำให้เซลล์ในร่างกายอ่อนแอลง สำหรับผู้สูบบุหรี่เป็นประจำก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งช่องปาก มะเร็งตับ และมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้นตามไปด้วย

      นอกจากหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งแล้ว ก็ควรที่จะดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้เกิดความสมดุลในแบบองค์รวม ควบคู่กันไปด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มี
ประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามินเอและวิตามินอีสูง หมั่นออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดเพื่อป้องกันมะเร็งผิวหนัง และให้ความสำคัญกับตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้คำว่า "มะเร็ง" ก็จะห่างไกลจากชีวิตคุณแน่นอน

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ไตวายเรื้อรังมีอาการอย่างไร

ไตวายเรื้อรังมีอาการอย่างไร


ไตวายเรื้อรัง (หมอชาวบ้าน)
คอลัมน์ สารานุกรมทันโรค โดย นพ.สุรเกียรติ อาซานานุภาพ

          ภาวะไตวาย หมายถึง ภาวะที่เนื้อไตทั้ง 2 ข้างถูกทำลายจนทำงานไม่ได้ หรือได้น้อยกว่าปกติ ทำให้น้ำและของเสียไม่ถูกขับออกมา จึงเกิดการคั่งจนเป็นพิษต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อดุลของสารเกลือแร่ (อิเล็กโทรไลต์) และความเป็นกรดด่างในเลือด รวมทั้งเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนบางชนิดที่ไตสร้าง การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้นำไปสู่ความผิดปกติของอวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย

โรคไต ไตวาย ไตอักเสบ อาหารบำรุงไต

          ภาวะไตวายสามารถแบ่งเป็น "ไตวายเฉียบพลัน" (ซึ่งมีอาการเกิดขึ้นฉับพลัน และเป็นอยู่นานเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์) กับ "ไตวายเรื้อรัง" (ค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละน้อย นานเป็นแรมเดือนแรมปี)

          ในที่นี้ขอกล่าวถึง "ไตวายเรื้อรัง" เป็นการเฉพาะ

โรคไต ไตวาย ไตอักเสบ อาหารบำรุงไต

ชื่อภาษาไทย : ไตวายเรื้อรัง
ชื่อภาษาอังกฤษ : Chronic renal failure (CRF)

สาเหตุ

          ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน และความดันโลหิตสูงที่ขาดการรักษาอย่างจริงจัง อาจเกิดจากโรคไตเรื้อรัง ที่สำคัญได้แก่ กรวยไตอักเสบเรื้อรัง (ซึ่งมักไม่แสดงอาการ) นิ่วในไต โรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุง (polycystic kidney ซึ่งมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด และถ่ายทอดทางพันธุกรรม)

          ผู้ที่ใช้ยาแก้ปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พาราเซตามอล และกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟนไดโคลฟีแนก) ที่ใช้รักษาอาการปวดข้อ โดยใช้ติดต่อกันทุกวันนานเป็นแรมปี ก็อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรังตามมาได้

          นอกจากนี้ ยังอาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ เช่น โรคเกาต์ โรคเอสแอลอี ต่อมลูกหมากโต ภาวะยูริกในเลือดสูง ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง พิษจากสารตะกั่วหรือแคดเมียม เป็นต้น

การแยกโรค

          เนื่องจากภาวะไตวายเรื้อรังมีอาการได้ต่าง ๆ ซึ่งไม่มีความจำเพาะเจาะจง อาการเหล่านี้อาจเกิดจากโรคอื่น ๆ ซึ่งแพทย์จะต้องทำการตรวจวินิจฉัยแยกแยะให้แน่ชัด ตัวอย่างเช่น

           อาการบวม ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยในโรคนี้ ก็ต้องแยกจากโรคไตชนิดอื่น (เช่น โรคหน่วยไตอักเสบ โรคไตเนโฟรติก) โรคตับเรื้อรัง (เช่น ตับแข็ง) ภาวะหัวใจวาย (ซึ่งอาจเกิดจากความดันโลหิตสูง โรคหัวใจต่าง ๆ)

           อาการซีด ก็ต้องแยกจากโรคเลือดบางชนิด (เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว โลหิตจางจากภาวะไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น ซึ่งมักจะมีไข้ จุดแดงจ้ำเขียว ร่วมด้วย) โรคโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก (ซึ่งจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาธาตุเหล็กบำรุงเลือด)

อาการ

          อาการขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยในระยะแรกอาจไม่มีอาการให้สังเกตได้ชัดเจน และมักจะตรวจพบจากการตรวจเลือด (พบว่ามีระดับครีอะทินีนและบียูเอ็นสูง) ในขณะตรวจเช็กสุขภาพหรือมาพบแพทย์ด้วยโรคอื่น

          ผู้ป่วยจะมีอาการชัดเจนเมื่อเนื้อไตทั้ง 2 ข้างถูกทำลายจนทำหน้าที่ได้น้อยกว่าร้อยละ 15 ของไตปกติ โดยจะสังเกตว่ามีปัสสาวะออกมาก และปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดินบ่อย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ขาดสมาธิ ตามัว ผิวหนังแห้งและมีสีคล้ำ คันตามผิวหนัง ชาตามปลายมือปลายเท้า

          บางรายอาจมีอาการหอบเหนื่อย สะอึก เป็นตะคริว ใจหวิว ใจสั่ง เจ็บหน้าอก บวม หรือมีเลือดออกตามผิวหนังเป็นจุดแดงจ้ำเขียว หรืออาจเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด

          เมื่อเป็นมากขึ้น จะมีอาการปัสสาวะออกน้อย

          เมื่อเป็นถึงขั้นสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีอาการซึม ชัก หมดสติ

การวินิจฉัย

          ในรายที่มีอาการที่น่าสงสัย แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น

           ตรวจเลือด พบสารบียูเอ็น (BUN) และครีอะทินีน (creatinine) ในเลือดสูง รวมทั้งอาจพบการเปลี่ยนแปลงของระดับเกลือแร่ (อิเล็กโทรไลต์) ในเลือดผิดจากดุลปกติ

           ตรวจปัสสาวะ พบสารไข่ขาว และน้ำตาลในปัสสาวะรวมทั้งอาจพบเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และสารเคมีต่าง ๆ ที่ผิดปกติ ขึ้นกับสาเหตุของโรค

           ถ่ายภาพไตด้วยการเอกซเรย์ หรืออัลตราซาวนด์ อาจพบความผิดปกติของไต เช่น นิ่วในไต ไตทั้ง 2 ข้างฝ่อตัว เป็นต้น

           เจาะเนื้อไตออกพิสูจน์ (renal biopsy) แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการตรวจด้วยวิธีนี้สำหรับผู้ป่วยบางราย ที่ยังไม่พบสาเหตุแน่ชัดจากการตรวจโดยวิธีอื่นมาก่อน

การรักษา

          แพทย์จะให้การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของไตวาย เช่น ให้ยาควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ ผ่าตัด นิ่วในไต เป็นต้น

          นอกจากนี้ก็ให้การแก้ไขตามอาการ หรือภาวะแทรกซ้อนที่พบร่วม เช่น

           ให้ยาควบคุมความดันโลหิตและไขมันในเลือด (ที่สูงจากโรคนี้) และภาวะหัวใจวายที่เป็นโรคแทรกซ้อน

           ถ้าบวม ให้ยาขับปัสสาวะ

           ถ้าซีด อาจต้องให้เลือด บางรายแพทย์อาจฉีดฮอร์โมน อีริโทรพอยเอทิน (erythropoietin) เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (ฮอร์โมนชนิดนี้สร้างที่ไต เมื่อไตวายก็จะขาดฮอร์โมนชนิดนี้)

การดูแลตนเอง

          ผู้ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรัง ควรติดตามการรักษากับแพทย์อย่าได้ขาด ควรกินยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรปรับขนาดยาเอง หรือซื้อยากินเอง เพราะยาบางอย่างอาจมีพิษต่อไตได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้

           จำกัดปริมาณโปรตีนที่กินไม่เกินวันละ 40 กรัม โดยลดปริมาณของ ไข่ นม และเนื้อสัตว์ลง (ไข่ไก่ 1 ฟอง มีโปรตีน 6-8 กรัม นมสด 1 ถ้วยมีโปรตีน 8 กรัม เนื้อสัตว์ 1 ขีด มีโปรตีน 23 กรัม) และกินข้าวเมล็ดธัญพืช ผักและผลไม้ให้มากขึ้น

           จำกัดปริมาณน้ำที่ดื่ม โดยคำนวณจากปริมาณปัสสาวะต่อวันบวกกับน้ำที่เสียไปทางอื่น (ประมาณ 800 มล./วัน) เช่น ถ้าผู้ป่วยมีปัสสาวะ 600 มล./วัน น้ำที่ควรได้รับเท่ากับ 600 มล. + 800 มล. (รวมเป็น 1,400 มล./วัน)

           จำกัดปริมาณโซเดียมที่กิน ถ้ามีอาการบวมหรือมีปัสสาวะน้อยกว่า 800 มล./วัน ควรงดอาหารเค็ม งดใช้เครื่องปรุง (เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสทุกชนิด) ผงชูรส สารกันบูด อาหารที่ใส่ผงฟู (เช่น ขนมปังสาลี) อาหารกระป๋อง น้ำพริก กะปิ ปลาร้า ของดอง หนำเลี๊ยบ)

           จำกัดปริมาณโพแทสเซียมที่กิน ถ้ามีปัสสาวะน้อยกว่า 800 มล./วัน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ผลไม้แห้ง กล้วย ส้ม มะละกอ มะขาม มะเขือเทศ น้ำมะพร้าว ถั่ว สะตอ มันทอด หอย เครื่องในสัตว์ เป็นต้น

           ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ได้รับการรักษาด้วยการล้างไตโดยการฟอกเลือด (hemodialysis) การล้างไตทางช่องท้อง (continuous ambulatory peritoneal dialysis/CAPD) หรือการปลูกถ่ายไต ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

          สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้าย (มักมีระดับครีอะทินีน และบียูเอ็นในเลือดสูงเกิน 10 และ 100 มก./ดล. ตามลำดับ ซึ่งไตจะทำหน้าที่ได้ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของไตปกติ) แพทย์จะทำการรักษาด้วยการล้างไต (dialysis) ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การล้างไตโดยการฟอกเลือด (กระทำที่สถานพยาบาลสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง) และการล้างไตทางช่องท้อง (ซึ่งผู้ป่วยจะทำเองที่บ้านทุกวัน) ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำงานออกกำลังกายได้ และมีชีวิตยืนยาวขึ้น

          ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหรือเปลี่ยนไต (renal transplantation) โดยใช้ไตบริจาคจากญาติสายตรง หรือผู้บริจาคที่มีไตเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อของผู้ป่วย หลังจากปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น ไซโคลสปอริน) ทุกวันตลอดไป เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อต้านไตใหม่ วิธีนี้ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นคืนหน้าที่ของไตจนเป็นปกติ สามารถมีชีวิตเช่นคนปกติได้

ภาวะแทรกซ้อน

โรคนี้มีผลกระทบต่อร่างกายแทบทุกส่วนที่สำคัญ ได้แก่

           เนื่องจากไตขับน้ำไม่ได้ ทำให้มีอาการบวมทั่วตัว และทำให้มีน้ำคั่งในกระแสเลือด เป็นผลทำให้ความดันโลหิต และภาวะหัวใจวายตามมา

           ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง เนื่องจากไตขับสารนี้ได้น้อยลง อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นได้

           ภาวะกระดูกอ่อน ทำให้แตกหักง่าย

           ภาวะซีด (โลหิตจาง) เนื่องจากขาดฮอร์โมนอีริโทรพอยเอทิน

           ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือองคชาตไม่แข็งตัว

           ภูมิต้านทานโรคต่ำ ทำให้เป็นโรคติดเชื้อง่าย และรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ

           เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

           ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง เช่น ซึม ชัก หมดสติ

การดำเนินโรค

         ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา ก็มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมทั้งจะค่อย ๆ ลุกลามกลายเป็นไตวายระยะท้าย ซึ่งสร้างความยุ่งยากในการรักษามากขึ้น ถึงขั้นล้างไต หรือเปลี่ยนไต

          ในรายที่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง และต่อเนื่องก็จะช่วยชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนออกไปได้

          ส่วนผู้ทีได้รับการรักษาด้วยการล้างไต หรือเปลี่ยนไตก็มักจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีชีวิตยืนยาวนานเกิน 10-20 ปีขึ้นไป

การป้องกัน

           1.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด

           2.รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

           3.ถ้าเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ หรือนิ่วในไต ควรรักษาอย่างจริงจัง จนสามารถควบคุมโรคได้เป็นอย่างดีอย่างต่อเนื่อง

           4.เมื่อเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (เช่นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ) หรือมีภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ (เช่น นิ่ว ต่อมลูกหมากโต) จะต้องได้รับการรักษาให้หายขาด อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง

           5.หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อไต ที่สำคัญคือ อย่ากินยาแก้ปวดหรือยาแก้ปวดข้อติดต่อกันนาน ๆ

ความชุก

          โรคนี้พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี คนอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดหรือยาแก้ปวดข้อ ติดต่อกันนาน ๆ

วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โรคกระเพาะอาหารเกิดจากอะไร

โรคกระเพาะอาหารเกิดจากอะไร


โรคกระเพาะอาหารคืออะไร



โรคกระเพาะอาหาร หมายถึง โรคที่มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น หรือมีการอักเสบของเยื่อกระเพาะอาหาร คนที่เป็นโรคนี้แล้วสามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนมากมักจะเป็นเรื้อรัง หรือเป็นนานๆ ถ้าไม่รักษาหรือปฏิบัติตัวให้ถูกต้องจะมีอาการเป็นๆ หายๆ และถ้าปล่อยให้เป็นมาก จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้



สาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร

สาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะมีมากมาย แต่เชื่อกันว่าสาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากมีกรดในกระเพาะอาหารมาก และเยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอลง

 
1.
สาเหตุที่กระเพาะอาหารมีกรดมากขึ้น เกิดขึ้นเนื่องจาก
 
 

กระตุ้นของปลายประสาท เกิดจากความเครียด วิตกกังวลและอารมณ์
 

การดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า เบียร์ ยาดอง
 

การดื่มกาแฟ
 

การสูบบุหรี่
 

การกินอาหารไม่เป็นเวลา
 
2.
มีการทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร เกิดจาก
 
 

การกินยาแก้ปวด ลดไข้ แก้ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ยาชุดที่มีแอสไพริน และยาสเตียรอยด์ ยาลูกกลอนต่างๆ
 

การกินอาหารเผ็ดจัด และเปรี้ยวจัดจากน้ำสมสายชู
 

การดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า เบี้ย ยาดอง
อาการที่พบ

 
1.
ปวดท้อง ลักษณะอาการปวดท้องที่สำคัญ คือ
 
 

ปวดเรื้อรังมานาน เป็นๆ หายๆ เป็นเดือนหรือเป็นปี
 

ปวดสัมพันธ์กับอาหาร เช่น ปวดเวลาหิวหรือท้องว่างเมื่อกินอาหารหรือนม จะหายปวด บางรายจะปวดหลังจากกินอาหารหรือนมจะหายปวด บางรายจะปวดหลังจากกินอาหารหรือปวดกลางดึกก็ได้
 
2.
จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เรอลม มีลมในท้อง ร้อนในท้อง คลื่นไส้อาเจียน
 
3.
อาการโรคแทรกซ้อน ได้แก่
 
 

อาเจียนเป็นเลือดดำ หรือแดง หรือถ่ายดำ เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น
 

ปวดท้องรุนแรง และ ช๊อค เนื่องจากแผลกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กทะลุ
 

ปวดท้องและอาเจียนมาก เนื่องจากการอุดต้นของกระเพาะอาหาร
ข้อควรจำ

อาการของโรคกระเพาะอาหาร จะไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค บางรายไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีแผลใหญ่มากในกระเพราะอาหาร หรือลำไส้ บางรายปวดท้องมากแต่ไม่มีแผลเลยก็ได้

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นกระเพาะอาหาร

การตรวจเพื่อให้รู้ว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร ทำได้ดังนี้

 
1.
แพทย์จะวินิจฉันได้ถูกต้องจากการซักประวัติ
อาการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย เพื่อแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายโรคกระเพาะ เช่น โรคถุงน้ำดี โรคตับ
 
2.
จากการเอ็กซเรย์ โดยการกลืนแป้งดูกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น สามารถตรวจพบว่า
มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก หรือไม่ อาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น สามารถตรวจพบว่ามีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กหรือไม่
 
3.
การส่องกล้อง เพื่อตรวจดูกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กจะสามารถมองเห็นเยื่อบุกระเพาะอาหาร
และลำไส้เล็กว่ามีการอักเสบมีเลือดออก หรือมีแผลหรือไม่ ตลอดจนสามารถตัดเนื้อเยื่อออกมาตรวจพิสูจน์ได้ด้วย
การรักษา

 
1.
กำจัดต้นเหตุของการเกิดโรค ได้แก่
 
 

กินอาหารให้เป็นเวลา
 

งดอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
 

งดดื่มเหล้า เบียร์ หรือยาดอง
 

งดดื่มน้ำชา กาแฟ
 

งดสูบบุหรี่
 

งดเว้นการกินยา ที่มีผลต่อกระเพาะอาหาร
 

พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายคลายตึงเครียด
 
2.
การให้ยารักษา โดยกินยาอย่างถูกต้อง คือต้องกินยาให้สม่ำเสมอ กินยาให้ครบตามจำนวน และระยะเวลา ที่แพทย์สั่งยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาประมาณอย่างน้อย 4-6 อาทิตย์ แผลจึงจะหาย ดังนั้นภายหลังกินยา ถ้าอาการดีขึ้นห้ามหยุดยา ต้องกินยาต่อจนครบ และแพทย์แน่ใจว่าแผลหายแล้ว จึงจะ ลดยาหรือหยุดยาวได้
 
3.
การผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบัน มียาที่รักษาโรคกระเพาะอาหารอย่างดีจำนวนมากถ้าให้การรักษาที่ถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดสำหรับการผ่าตัดอาจทำให้เป็นกรณีที่เกิดโรคแทรกซ้อน ได้แก่
 
 

เลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก โดยไม่สามารถทำให้หยุดเลือดออกได้
 

แผลกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กเกิดการทะลุ
 

กระเพาะอาหารมีการอุดตัน
การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคกระเพาะ

 
1.
กินอาหารให้เป็นเวลา ไม่ปล่อยให้ท้องว่าง หรือหิว ถ้าหิวก่อนเวลาให้ดื่มนม หรือน้ำเต้าหู้ น้ำข้าว น้ำผลไม่ได้
 
2.
หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด จากน้ำสมสายชู
 
3.
งดดื่มเหล้า เบียร์ กาแฟ ยาดอง
 
4.
งดการสูบบุหรี่
 
5.
หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวด แก้ไข ที่มีแอสไพริน หรือยาชุดต่างๆ รวมทั้งยาแก้ปวดกระดูก และยาสเตียรอยด์ ยาลูกกลอน ยาหม้อต่างๆ
 
6.
ควรพักผ่อนให้มากเพียงพอ ทำจิตใจให้เบิกบานผ่อนคลายเครียดวิตกกังวล และไม่หงุดอารมณ์เสียง่าย
 
7.
กินยาตามแพทย์สั่ง ถ้ากินยาแล้วอาการดีขึ้น ต้องกินยาติดต่อกันอย่างน้อย 4-6 อาทิตย์ ไม่ควรหยุดยาก่อน เพราะอาการปวดท้องจะกำเริบได้อีก
 
8.
ควรออกกำลังกาย แต่ไม่ควรมากเกินไป
 
9.
อย่าซื้อยากินเอง มีโรคอื่นควรปรึกษาแพทย์

 
  แหล่งข้อมูล : www.ramaclinic.com


วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ทำไมดื่มนมเเล้วท้องเสียได้

ทำไมดื่มนมเเล้วท้องเสียได้


   เชื่อว่าหลาย ๆ คนเวลาดื่มนมทีไรมักจะมีอาการท้องไส้ปั่นป่วน ตามมาด้วยอาการท้องเสีย จนพาลไม่อยากดื่มนมไปซะอย่างนั้น แล้วรู้ไหมคะว่าจริง ๆ แล้วอาการ ดื่มนม ท้องเสีย นี้พบได้บ่อยในคนไทยทีเดียว เพราะอะไรเวลาดื่มนม แล้วท้องเสียทุกที ไปหาคำตอบกันเลย



          สำหรับเหตุผลที่ ดื่มนม ท้องเสีย นั้น ไม่ใช่เกิดจากอาการแพ้นมอย่างที่หลายคนเข้าใจกันหรอกค่ะ แต่เป็นเพราะในร่างกายคนไทย รวมทั้งคนแถบเอเชีย และแถบแอฟริกาจะผลิตน้ำย่อยสำหรับย่อยแลคโตสออกมาตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 4-5 ปีเท่านั้น และอย่าลืมว่า ในน้ำตาลแลคโตสนี้พบในน้ำนมที่ได้มาจากสัตว์ทุกชนิด

          ดังนั้น เมื่อผ่านพ้นวัยเด็กไปแล้ว น้ำย่อยตัวนี้จะลดน้อยลงจนหมดไป จึงไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสได้ พอเราดื่มนม ไม่ว่าจะเป็นนมวัว นมแพะ ฯลฯ น้ำตาลในนมจะผ่านไปสู่ลำไส้ใหญ่แล้วถูกย่อยด้วยจุลินทรีย์ เกิดเป็นกรดและแก๊ส ทำให้ท้องเสียได้ เพราะไม่มีน้ำย่อยมาย่อยแลคโตสอีกแล้ว หรือบางคนอาจเกิดอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นหน้าอก รวมทั้งผายลมบ่อย ๆ ด้วย



          แต่ใช่ว่าอาการ ดื่มนม ท้องเสีย จะเป็นกับทุกคนนะคะ เพราะยังมีอีกหลายคนที่ดื่มนมแล้ว ไม่เกิดอาการใด ๆ เลย โดยทางการแพทย์เชื่อว่า คนที่ดื่มนมวัวมาอย่างต่อเนื่อง แบคทีเรียในลำไส้จะสามารถสร้างน้ำย่อยน้ำตาลแลคโตสขึ้นมาได้เอง จึงทำให้หลายคนไม่มีอาการท้องเสียให้เห็น เมื่อดื่มนมเข้าไปแล้ว


          แต่สำหรับคนที่ ดื่มนม ท้องเสีย ก็มักจะเลิกดื่มนมไปเลย ซึ่งก็ส่งผลต่อการขาดแคลเซียมได้ ดังนั้นมีคำแนะนำว่า สำหรับคนที่ท้องเสีย หรือแน่นท้องเมื่อดื่มนม ให้ดื่มนมหลังรับประทานทานอาหารแทน และไม่ควรดื่มนมระหว่างท้องว่าง เพื่อไม่ให้เกิดแก๊สขึ้นพร้อมกันจำนวนมาก ๆ จนเกิดอาการไม่สบายท้องได้

          หรืออาจจะลองลดปริมาณการดื่มนมดู ค่อย ๆ ทานทีละนิด แต่ให้ดื่มหลังรับประทานอาหารเช่นกัน หากยังท้องเสียหรือมีอาการไม่ปกติอยู่ ในสัปดาห์ถัดไป ก็ให้ลดปริมาณลงมาอีกครึ่งหนึ่ง แล้วทานปริมาณนั้นทุกวัน จนได้ปริมาณการดื่มนมที่ไม่ทำให้เกิดอาการแล้ว ก็ค่อย ๆ ลองเพิ่มปริมาณนมให้มากกว่าเดิมในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป เพื่อหาปริมาณนมที่ดื่มแล้วไม่เกิดอาการนั่นเอง

          นอกจากนี้ หากไม่ชอบ หรือไม่อยากดื่มนม ก็อาจทานนมวัวที่อยู่ในรูปอื่น ๆ เช่น โยเกิร์ต แทนได้ และถ้าหากกลัวว่าจะได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ก็สามารถทานอาหารประเภทอื่นที่มีแคลเซียมชดเชยแทนได้ค่ะ เช่น ผักใบเขียว งาดำ แต่อย่างไรเสียอะไรก็คงไม่ดีเท่ากับการดื่มนมสดอยู่แล้ว

ที่มา kapook

วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โรคปอดบวมมีอาการอย่างไร


โรคปอดบวมมีอาการอย่างไร

        โรคปอดบวมเป็นโรคปอดและระบบทางเดินหายใจซึ่งเกิดจากภาวะถุงลมในปอดเกิดอักเสบและมีของเหลวไหลท่วม โรคปอดบวมอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือพยาธิ โรคปอดบวมอาจเกิดจากการที่ปอดได้รับสารเคมีหรือการกระทบกระเทีอนทางกายภาพได้เช่นกัน



         ผู้ป่วยโรคปอดบวมจะมีอาการโดยทั่วไปได้แก่ ไอ เจ็บหน้าอก มีไข้สูง และหายใจหอบ การวินิจฉัยจะกระทำโดยการฉายรังสีเอกซ์และการตรวจเสมหะ ส่วนวิธีการรักษาจะขึ้นกับสาเหตุของโรค เช่น โรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียจะรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

         โรคปอดบวมเป็นโรคที่พบได้ทั่วไป เกิดได้กับคนทุกวัย และเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยระยะสุดท้าย ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคปอดบวมแล้ว อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์โรคว่าผู้ป่วยมีโอกาสหายดีหรือไม่อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคปอดบวม การรักษาที่เหมาะสม ภาวะแทรกซ้อน และสุขภาพพื้นฐานของตัวผู้ป่วยเอง                                       

    โรคปอดบวม

          เป็นโรคที่มีอันตรายถึงชีวิตได้  พบว่าเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้เลี้ยงเด็กจะต้องรู้จักโรค สังเกตอาการเป็น เพื่อนำผู้ป่วยไปรับการรักษาเร็วที่สุด

          สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสและบักเตรีหลายชนิด


          การติดต่อ เช่นเดียวกับโรคหวัด คือ
          * หายใจเอาเชื้อโรคที่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป
          * ไอ จามรดกัน
          * คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นปอดบวม
          * สำลักเอาเชื้อบักเตรีที่มีอยู่โดยปกติในจมูกและคอเข้าไป ซึ่งมักพบในเด็กที่อ่อนแอ พิการ

          อาการ
          จะมีไอมาก หายใจหอบ หรือหายใจลำบากและไข้ ในเด็กโตอาจบ่นเจ็บหน้าอกหรือบริเวณชายโครงด้วย อาจเริ่มเหมือนหวัดก่อน 1-2 วัน ความรุนแรงของโรคปอดบวมในเด็กนั้น แบ่งเป็น 3 ชนิด ดังนี้
          1. โรคปอดบวมชนิดไม่รุนแรง  รักษาโดยกินยาที่บ้าน ผู้ป่วยจะมีอาการไอ และหอบ หรือหายใจเร็ว โดยใช้หลักเกณฑ์อัตราการหายใจ ดังนี้

          เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน หายใจหอบ คือ หายใจตั้งแต่ 60 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
          เด็กอายุ 2-11 เดือน     หายใจหอบ คือ หายใจตั้งแต่ 50 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
          เด็กอายุ 1-5 ปี            หายใจหอบ คือ หายใจตั้งแต่ 40 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
          เวลานับอัตราการหายใจต้องนับให้ครบ 1 นาทีในขณะที่เด็กสงบ ไม่ร้องหรือดิ้น ในเด็กเล็กให้ดูการกระเพื่อมขึ้นลงของหน้าท้อง อาจเปิดเสื้อขึ้นดูให้ชัด ถ้าเป็นในเด็กโตกว่า 7 ขวบ ให้ดูการเคลื่อนไหวของทรวงอก เคลื่อนโป่งออก และแฟบลงเป็น 1 ครั้ง

          2. โรคปอดบวมชนิดรุนแรงจะมีอาการไอและหายใจแรงมากจนทรวงอกส่วนล่าง (บริเวณลิ้นปี่ตลอดชายโครง) บุ๋มเข้าขณะหายใจเข้า จะมีหอบร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม แพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
          3. โรคปอดบวมชนิดรุนแรงมาก เด็กจะมีเสียงหายใจผิดปกติ อาจมีเสียงฮืดเวลาหายใจเข้าหรือเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือนมีเสียงหวีดเวลาหายใจออก หรือเด็กไม่กินนม-น้ำ ซึม ปลุกตื่นยาก หอบเหนื่อยมาก จนริมฝีปากเขียว ชัก ฯลฯ แพทย์จะต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล

          ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 เดือน ถ้าเป็นปอดบวมถือว่ารุนแรงทุกราย เด็กอาจมาด้วยอาการไข้สูง ไม่กินนมหรือน้ำ โดยอาจไม่ไอ แพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพราะมีอันตรายได้มาก อาการจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุก็แตกต่างกับเด็กโต จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะแตกต่างกัน

          การรักษา
          ถ้าเป็นปอดบวมไม่รุนแรง จะได้รับการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะไปกินที่บ้าน จะต้องให้เด็กกินยาสม่ำเสมอ ขนาดยาตามแพทย์สั่ง ควรอ่านฉลากยาก่อนให้กินยาเสมอ และกินจนครบชุด รวม 5-7 วัน
          ส่วนอาการอื่นๆ เช่น ไข้ จะได้รับยาแก้ไข้เช่นเดียวกับโรคหวัด ให้กินเฉพาะเวลาตัวร้อนห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

          อาการไอนั้น ในโรคปอดบวมจะไอได้มากกว่าโรคหวัด ยาที่กินอาจเป็นยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะ บางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ยาขยายหลอดลมด้วย ห้ามกินยากดไม่ให้ไอหรือยาแก้แพ้ หรือยาแก้ไอสำเร็จรูปที่มีตัวยาตั้งแต่ 3 อย่างขึ้นไป เพราะแทนที่จะมีประโยชน์อาจเป็นโทษ เช่น ทำให้เด็กไอไม่ออก เสมหะที่มีมากอาจตกเข้าไปค้างในหลอดลมทำให้ปอดแฟบได้

          นอกจากนี้ให้ผู้ป่วยได้กินน้ำบ่อยๆ ไม่ลดอาหาร ทำเช่นเดียวกับโรคหวัด พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงเด็กต้องคอยดูอาการ ถ้าอาการมากขึ้นจะต้องพาไปพบแพทย์ใหม่ หรือ 2 วันแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นก็ต้องพาไปตรวจอีก โดยมากควรพาไปตรวจอีกครั้งเมื่อครบ 2 วัน ส่วนมากอาการจะดีขึ้น และค่อยๆ หายใน 1 อาทิตย์ อาการที่ไม่ดีขึ้นหรือเลงลงได้แก่ หอบมากขึ้น หายใจต้องออกแรงมากขึ้นหรือมีอาการของภาวะป่วยหนักอื่นๆ เช่น เด็กซึม ไม่กินนมน้ำ ชัก ซึ่งจะต้องรักษาในโรงพยาบาล

          ในรายเป็นปอดบวมรุนแรงและรุนแรงมาก จะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลโดย
          - การฉีดยาปฏิชีวนะ อาจต้องให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือดในบางราย
          - อาจต้องให้ออกซิเจนในรายที่หายใจเหนื่อยมาก หรือริมฝีปากเขียว หรืออ่อนเพลีย ซึมไม่กินนมน้ำ
          - ถ้าอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
          โรคปอดบวมมีอันตรายมากในผู้ป่วยเหล่านี้
          1. อายุน้อย โดยเฉพาะในขวบแรก
          2. เป็นเด็กน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย หรือเด็กขาดอาหาร
          3. มีความพิการ โดยเฉพาะหัวใจพิการแต่กำเนิด
          4. เชื้อที่เป็นสาเหตุเป็นชนิดรุนแรง โดยเฉพาะเชื้อบักเตรี
          5. มารับการรักษาช้าไป

          การป้องกันโรคปอดบวม
          ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนที่เหมาะสม เพราะโรคปอดบวมในเด็กเกิดได้จากเชื้อบักเตรีหลายชนิดและเชื้อไวรัสหลายชนิด วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถครอบคลุมเชื้อหลายชนิดได้ แม้จะฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวมหลายเข็ม ก็ป้องกันโรคได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นการป้องกันจึงใช้วิธีหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ เช่นเดียวกับการป้องกันโรคหวัด ได้แก่
          - หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวม โดยเฉพาะเด็กทารกถ้าเป็นปอดบวมจะมีอันตรายมาก
          - หลีกเลี่ยงมลภาวะที่เป็นพิษ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันท่อไอเสียรถยนต์ และหมอกควันในอากาศ
          - ในเด็กอ่อนเดือน ต้องไม่ให้สัมผัสกับความหนาวเย็น
          - นอกจากนี้ต้องเลี้ยงดูเด็กให้แข็งแรง กินอาหารที่มีคุณค่า ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข และเด็กทุกคนควรเกิดมาแข็งแรง ไม่พิการ แม่ควรฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ ควรวางแผนครอบครัวก่อนจะมีลูกด้วย

           * ถ้ามีอาการสงสัยว่าจะเป็นปอดบวม ให้รีบพาไปตรวจ เพื่อเด็กจะได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก อันตรายจะน้อยลง

ที่มา http://www.thaigoodview.com/node/41987