บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

ไมเกรนคืออะไร


ไมเกรนคืออะไร

  ปัจจุบันนี้ ไมเกรนได้กลายเป็นปัญหาที่สร้างความหนักใจให้กับผู้หญิงส่วนใหญ่ จากการสำรวจพบว่าผู้หญิงร้อยละ 18 ต้องเผชิญกับปัญหานี้ต่างกับผู้ชายที่พบว่าเป็นเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นเอง

          อาการปวดหัวที่เกิดถ้านาน ๆ เป็นทีก็ไม่ควรวิตกกังวลให้มากนัก แต่เมื่อไรที่คุณเป็นถี่มากขึ้น หรือมีการปวดมากจนไม่สามารถทำงานได้ อย่านิ่งนอนใจ ลองอ่าน 15 ข้อแนะนำต่อไปนี้ แล้วลองพิจารณาดูว่า คุณเข้าข่ายเป็นไมเกรนหรือแค่ปวดหัวธรรมดากันแน่



 1. อย่าคิดว่าไมเกรนเป็นแค่อาการปวดหัวธรรมดา

          คนที่เป็นไมเกรนจะปวดหัวรุนแรง และมักปวดหัวข้างเดียว ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาโดยทันที คุณอาจจะต้องทรมานปวดหัวต่อไปอีก ถึงวันละ 4 ชั่วโมง นานถึง 3 วันติดกัน นอกจากนี้อาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ แพ้แสงในลักษณะเห็นแสงแบบดาวระยิบระยับ หรือมักได้กลิ่นแปลก ๆ ที่ไม่เหมือนกับคนอื่น หากยังละเลยปล่อยทิ้งไว้โดยไม่พบแพทย์ แน่นอนว่าอาการของคุณก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ

 2. อย่าเก่งด้วยการเป็นหมอรักษาตัวเอง

          หลายคนพยายามที่จะรักษาอาการปวดหัวด้วยตัวเองซึ่งถือว่าผิดมนันต์ จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยไมเกรน 58 คน จาก 100 คน ไม่เคยขอรับคำปรึกษาจากแพทย์เลย ถึงแม้ยาแก้ปวดจะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวชั่วคราวได้ก็จริง แต่หากอาการเข้าข่ายเป็นไมเกรน ยาแก้ปวดพาราเซตามอล 2 เม็ดคงไม่พอ แต่การเพิ่มปริมาณยาให้มากขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการติดยาในเวลาต่อมา เพราะบางคนอาจทานยาถึง 16 วันใน 1 เดือน หรือมากกว่า 180 วันใน 1 ปี ด้วยเหตุนี้จึงพบว่า ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งยังคงมีอาการปวดหัวอยู่ เนื่องจากทานยาแก้ปวดมากเกินไปนั่นเอง

          อย่างไรก็ดี หากปวดหัวอยู่เป็นประจำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องจะดีกว่า และให้ระมัดระวังยาที่ "เพื่อนบอกว่าใช้แล้วดี" ด้วยเพราะไม่รู้ว่ายาตัวนั้นจะเหมาะกับเราหรือไม่

 3. อย่าทานยาแก้ปวดต่างชนิดในวันเดียวกัน

          หากคุณปวดหัวแล้วไม่ได้ไปปรึกษาแพทย์ ก็อย่าทานยาแก้ปวดหัวที่ต่างชนิดกันบ่อย ๆ เพราะอาจจะทำให้มีอาการแย่ลงยิ่งกว่าเดิม ไม่เพียงแค่นั้นยังทำให้แพทย์สันนิษฐานไม่ได้ หากเกิดอาการแพ้ยาขึ้น นอกจากนี้อย่าทานยาตอนท้องว่าง เพราะอาจทำให้กระเพาะเกิดการระคายเคือง ทางที่ดีแล้วควรทานอาหารรองท้องก่อนเล็กน้อย แล้วค่อยทานยาเพื่อให้การดูดซึมยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

 4. ไม่ควรทานยาช้าเกินไป

          เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกปวดหัว ไม่ควรเพิกเฉย แต่ควรสังเกตอาการเริ่มแรกให้ดีเพื่อที่จะได้หายามาทานให้ทันท่วงที เพราะหากช้าเกินไป เพียงแค่เราสัมผัสผมก็อาจทำให้ปวดหัวได้ ถ้าถึงตอนนั้นยาตัวใดก็ไม่สามารถช่วยระงับอาการปวดได้ สัญญาณเตือนที่บอกว่าคุณอาจจะเป็นไมเกรนคือ อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย เฉื่อยชา โมโหง่าย อยากอาหารบางอย่างเช่น ของหวาน ๆ และออกอาการหาวแต่ไม่ได้ง่วงนอน

 5. หากปวดหัวมากกว่า 3 ครั้งต่อเดือน ยาแก้ปวดก็ช่วยไม่ได้แล้ว

          หากคุณมีอาการอย่างนี้บ่อย ๆ การบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติ บางทีก็น่าลองดู เช่น อาจจะจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำหรือขี่จักรยาน ถ้าไม่ถนัดกีฬาที่กล่าวมา ก็อาจจะเล่นกีฬาชนิดไหนก็ได้ที่คุณชอบ เพียงแต่ขอให้เป็นการเคลื่อนไหวเบา ๆ เพียงแค่วันละ 15 นาที ก็เพียงพอแต่ถ้าแค่คิดก็เหนื่อยแล้ว ลองเปลี่ยนวิธีเป็นเดินในห้างสรรพสินค้าดูก็ได้นะ

          แต่ก็มีบางคนที่จะต้องทานยาทุกวัน ถึงแม้ว่าจะไม่ปวดหัวก็ตาม ตัวยาเหล่านี้แตกต่างจากยาแก้ปวดทั่วไปคือ ช่วยบรรเทาอาการปวดหัว โดยทำให้ระบบทางเดินโลหิตและระบบประสาททำงานเป็นปกติ

 6. หาสาเหตุให้ได้ว่า ทำไมเราจึงปวดหัว

          สาเหตุที่ทำให้ปวดหัวมีมากเหลือเกิน แต่ละคนก็ปวดหัวด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นควรหาสาเหตุให้ได้ว่าทำไมเราจึงปวดหัว เมื่อรู้แล้วจะได้หลีกเลี่ยงไม่ทำอย่างนั้น และพร้อมที่จะเผชิญกับมัน

 7. อย่าเปลี่ยนกิจวัตรบ่อย ๆ

          การนอนมากหรือน้อยกว่าปกติ การทานอาหารมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ล้วนเป็นสาเหตุที่อาจทำให้ปวดหัวได้ การที่ทำกิจวัตรต่าง ๆ ไม่ต่อเนื่องกันนี้เสี่ยงต่อการปวดหัวโดยเฉพาะกับคนที่เป็น "ไมเกรนช่วงสุดสัปดาห์" ซึ่งไม่ควรเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันช่วงวันเสาร์-อาทิตย์มากนัก และอย่าได้ประเมินค่าการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรต่าง ๆ เหล่านี้ต่ำเกินไป โดยเฉพาะยิ่งถ้าหากคุณเพิ่งฟื้นไข้ คุณจะต้องทานยาที่ถูกต้องและพกยาติดตัวไว้เสมอ เผื่อว่าเกิดปวดหัวขึ้นมากะทันหัน ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจทำให้ปวดหัวได้

 8. อย่าคิดว่าการปวดหัวเป็นผลเคียงจากการมีประจำเดือน

          การที่คุณปวดหัวทุกครั้งในช่วงที่มีประจำเดือนหรือช่วง 2 วันแรกก่อนมีประจำเดือนถึงจะแสดงว่าคุณเป็น "ไมเกรนในช่วงมีประจำเดือน" ซึ่งเกิดจากการที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดต่ำลง ทำให้ปวดหัวนานกว่าเดิม มากกว่าเดิม และรักษายากยิ่งกว่าเดิม ในกรณีนี้ไม่ควรเพิกเฉยต่ออาการดังกล่าวแต่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูอาการให้แน่ใจ

 9. ยาที่ใช้รักษาโรคอื่นอาจทำให้ปวดหัวได้

          ยาที่แพทย์สั่งให้ทานเพื่อรักษาโรคอื่นที่เป็นอยู่อาจมีผลข้างเคียงทำให้เราปวดหัวมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้ในกรณีนี้ลองให้แพทย์สั่งยาตัวอื่นที่รักษาโรคนั้น ๆ ได้และไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ มาทานแทน

 10. อย่าพยายามเอาชนะโรคไมเกรนสุดสัปดาห์

          บางคนมักปวดหัวในช่วงสุดสัปดาห์เนื่องจากการพักผ่อนมากเกินไป การพักผ่อนนี้ก็เป็นผลมาจากความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นตลอดวันทำงานที่ผ่านมา ทางที่ดีเราควรหลีกเลี่ยงเรื่องเครียดต่าง ๆ แล้วหากิจกรรมอื่นทำ เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นกับสุนัข

 11. อย่าหยุดทานยาคุมกำเนิดเพียงเพราะว่าปวดหัว

          สำหรับผู้หญิงบางคนถ้าทานยาคุม ไมเกรนจะกำเริบมากยิ่งขึ้น ในกรณีนี้ให้นำยาไปให้สูตินารีแพทย์ดู เผื่อว่าแพทย์จะสั่งยาคุมตัวอื่นที่เหมาะกับเราให้เราลองทานดูได้ อย่างไรก็ตามหญิงสาวที่เป็นไมเกรน และทานยาคุมด้วยนั้นจะต้องไม่สูบบุหรี่เป็นอันขาด เพราะจะเสี่ยงต่อการที่เลือดแข็งตัวผิดปกติ

 12. หากคุณอยู่ในช่วงวัยทองอย่าทำการบำบัดฮอร์โมน

          การบำบัดฮอร์โมน อาจยิ่งทำให้อาการปวดหัวแย่ลง หากจำเป็นจริง ๆ ให้แพทย์สั่งยาที่จะช่วยคงสมดุลของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ที่เหมาะกับเราให้ดีกว่า

 13. อย่าทานยาแก้ปวดหัวในขณะที่ตั้งครรภ์อยู่

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกที่ตั้งครรภ์เพราะยาแก้ปวดบางตัวอาจทำให้แท้ลูก หรือทำให้ลูกที่อยู่ในครรภ์พิการได้ ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าทานยาได้หรือไม่ ควรไปปรึกษาแพทย์เสียก่อน

 14. อย่ารักษาแต่อาการปวดหัวอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ก็ต้องรักษาด้วย

          โดยปกติไมเกรนอาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย เช่น วิงเวียนและคลื่นไส้อาเจียน ในกรณีนี้ให้ทานยาแก้วิงเวียน ซึ่งจะทำให้กระเพาะอาหารซึมซับยาได้ดีขึ้นและทำให้หายปวดหัวได้ ส่วนอาการแทรกซ้อนอีกย่างก็คือ คลื่นไส้อาเจียน ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์สั่งยาให้

 15. ไม่ได้มีแต่ยาที่ช่วยแก้ปวดหัว

          หากคุณได้รับความทุกข์ทรมานจากการปวดหัวอยู่บ่อย ๆ ยังมีทางเลือกอื่นที่จะรักษาอาการปวดหัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผู้เชี่ยวชาญพิเศษแนะนำนั่นก็คือ ไบโอฟีดแบ็ก (Biofeedback) คือกรรมวิธีการรักษาผู้ที่ป่วยเป็นโรคไมเกรน หรือโรคเครียดที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง นอกจากนี้ยังช่วยรักษาผู้ที่เป็นแผลเรื้อรัง ระบบขับถ่ายไม่ดี ความดันเลือดสูง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ฯลฯ เทรนนิ่งออโตเจโน (Training Autogeno) คือการควบคุมตัวเองเพื่อให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย เหมาะกับคนที่ชอบวิตกกังวล เป็นไมเกรน มีความเครียดสูงหรือเป็นโรคหอบหืด และการฝังเข็ม วิธีการเหล่านี้ต่างก็ได้รับการยืนยันว่าช่วยลดอาการปวดหัวได้

วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

น้ำเเร่คืออะไรมีประโยชน์อย่างไร

น้ำเเร่คืออะไรมีประโยชน์อย่างไร


นวพรรษ  บุญชาญ : รายงาน

          มีหลายคนสงสัยว่า "น้ำแร่" ต่างจากน้ำธรรมดาอย่างไร แล้วที่บอกว่ามีแร่นั้น ชนิดใดบ้าง เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.สถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า น้ำแร่มี 2 ชนิด คือ ชนิดแร่น้อย และชนิดแร่มาก ทางการกำหนดว่าต้องมาจากแหล่งธรรมชาติจริง ๆ เช่น น้ำพุธรรมชาติ น้ำพุร้อน และต้องไม่เอาแร่มาเติมใส่เอง พูดง่าย ๆ ว่าน้ำแร่ธรรมชาตินั้นรองจากน้ำพุใส่ขวดแล้วเอามาขายเลย หรือถ้าผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ หรืออัดแก๊สเข้าไปก็ต้องระบุไว้ในฉลากด้วย
 
          ในน้ำแร่จะมีแร่ธาตุหลัก ๆ อยู่ 5 ชนิด คือ แคลเซียม เกลือ (โซเดียม) แมกนีเซียม โพแทสเซียม และกำมะถัน การดื่มน้ำแร่ก็คล้ายกับกินดินโป่ง เพราะแร่ในน้ำแร่ก็มาจากดิน ถ้าเปรียบไปก็คล้ายกับสิ่งมีชีวิตในป่าที่กินดินโป่งเอาแร่ธาตุ น้ำแร่ก็เหมือนกับยาน้ำบำรุงแร่ธาตุจากธรรมชาตินั่นเอง

          ราคาน้ำแร่จะแตกต่างกันมาก ขึ้นกับแหล่งผลิตและต้นทุนในการขนส่ง บางยี่ห้อเป็นน้ำแร่ฝรั่งเศส เยอรมนี พวกนี้จะแพงเพราะค่าขนส่งและภาษีขาเข้า แต่น้ำแร่ที่ผลิตในประเทศไทย ไม่มีต้นทุนอะไรมากนอกจากค่าขวดกับค่าโฆษณา จึงมีราคาถูกกว่า เว้นแต่มีการเช่าสัมปทานแหล่งน้ำพุแร่ธรรมชาติ ผู้ผลิตก็จะบวกค่าโสหุ้ยนี้เข้าไป

          ถ้าถามว่า จำเป็นที่คนต้องกินน้ำแร่หรือไม่ ที่จริงแล้วจะกินก็ได้หรือไม่กินก็ไม่เสียหายอะไร เพราะแร่ธาตุนั้นเป็นของต้องการน้อย แต่ขาดไม่ได้ บรรดาธาตุในน้ำแร่นี้ปกติเราก็ได้จากอาหารอยู่แล้ว การที่น้ำแร่มีแร่ธาตุเจืออยู่ทำให้เกิดรสชาติเฉพาะบางคนอาจชอบดื่มน้ำแร่ เพราะลิ้นอาจไวต่อรสชาติกร่อยเหล่านี้ก็ได้

น้ำแร่มีประโยชน์หรือไม่ ?

          นพ.กฤษดา กล่าวว่า มีประโยชน์ ร่างกายต้องการใช้ปรุงสารเคมีต่าง ๆ เลี้ยงตัวเอง แต่ปกติธาตุพวกนี้ก็ได้จากอาหารมากอยู่แล้ว ได้แก่ แคลเซียม พบมากในกะปิ เต้าหู้ งาดำ เกลือโซเดียม แมกนีเซียม พบใน ผักใบเขียวจัด โพแทสเซียม พบในกล้วย ส้ม กำมะถัน พบใน กระเทียม หัวหอม ขึ้นฉ่าย ทุเรียน
 
          เคยมีบางการศึกษาแนะว่า คนที่ควรกิน คือ 1.ผู้ใหญ่วัยทอง ต้องสร้างกระดูก 2.คนที่กินนมวัวไม่ได้ จะได้แคลเซียมจากน้ำแร่ 3.เด็กน้อยที่กำลังโต ซึ่งมีงานวิจัยหนึ่งพบว่าธาตุแคลเซียมในน้ำแร่ดูดซึมได้ดีกว่าจากนมวัวสด นอกจากนั้นยังมีการวิจัยหนึ่งในอิตาลีพบว่าช่วยป้องกันฟันผุได้

          มีข้อดีประการหนึ่งของน้ำแร่ คือ มีงานวิจัยพบว่าน้ำแร่บริสุทธิ์นั้น ไม่พบรายงานการติดเชื้อท้องเสียจากการดื่มน้ำแร่ โดยการศึกษาโบเมอร์และเรชส์เมื่อปี ค.ศ. 2000 ดูว่ามีประเทศตะวันตกใดพบปัญหาท้องเสียจากน้ำบ้าง ซึ่งพบว่ามีผู้ท้องเสียจากการดื่มน้ำประปากว่า 4 แสนคน เมื่อเทียบกับผู้ดื่มน้ำแร่ที่ไม่พบรายงานปัญหาเช่นว่านี้เลย
 
ที่ควรพึงระวัง คือ

           1.น้ำแร่อาจมีโซเดียมทำให้คนวัยทองความดันขึ้น

           2.คนที่มีปัญหาเรื่องไตหรือทางเดินปัสสาวะไม่ค่อยดี น้ำแร่อาจไปตกตะกอนเกิดตะกรันนิ่วอุดท่อฉี่ได้

           3.คนที่มีปัญหาโรคหัวใจต้องระวัง "ธาตุโพแทสเซียม" ในน้ำแร่ไปกวนหัวใจให้เต้นผิดปกติ

           4.แร่บางอย่างในเด็กถ้ามากเกินไปจะเป็นพิษอย่าง "ฟลูออไรด์" ทำให้ฟันเป็นจุดด่างดำแทน

           5.คนท้องต้องระวังเรื่องน้ำแร่ อัดแก๊สที่อาจทำให้ลมขึ้นเสียดท้องได้ และน้ำแร่ที่มีโลหะหนักมากอาจไปสะสมในทารกได้

           และ 6.โลหะหนักปนเปื้อนในน้ำแร่สะสมในคนได้ เช่น สารหนู ตะกั่ว ปรอท แมงกานีส ซีลีเนียม

          สิ่งที่อยากฝากคือ น้ำดื่มที่ดีที่สุดไม่ใช่น้ำดื่มที่ปราศจากแร่ใด ๆ เลย ซึ่งอย่างนั้นเรียกน้ำกลั่น จะใช้เติมแบตฯ รถยนต์หรือใช้ในห้องทดลองเท่านั้น แหล่งน้ำดื่มที่ดีที่สุดคือ น้ำประปา น้ำกรองหรือน้ำธรรมชาติที่ไหลเวียนอยู่เสมอไม่ใช่น้ำนิ่ง ถ้าจะดื่มน้ำแร่ขอให้เลือกดูที่ข้างฉลากบอกปริมาณแร่ธาตุสำคัญ จะได้ไม่ต้องรับแร่ธาตุเกินไปกระตุ้นโรค


เพิ่มเติมน่าสนใจ


- INDIVIDUAL HEALTH INSURANCE PLANS
http://individualinsurance.exteen.com/

- COMPARING HEALTH INSURANCE OPTIONS
http://insuranceoptions.exteen.com/

- ANDROID JELLY BEAN REVIEW
http://androids.exteen.com/

- HEALTH CARE OF YOURSELF EVERY DAY
http://healthcareofyour.exteen.com/

วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

สาเหตุการเกิดฝ้า

 สาเหตุการเกิดฝ้า

วิธีป้องกัน และการรักษา

     ฝ้ามักขึ้นบริเวณใบหน้า มีลักษณะสีน้ำตาลอมดำ อาจมีขนาดแตกต่างกัน มีตั้งแต่เป็นหย่อมเล็ก ๆ จนกระทั่งขนาดใหญ่ บริเวณที่มักเกิดฝ้ามากที่สุด คือ โหนกแก้ม สันจมูก และอาจเกิดที่หน้าฝาก โดยทั่วไปฝ้าจะเกิดกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ ฝ้ามักจะเกิดบริเวณผิวหนังส่วนที่ถูกแดด ควรระวังไม่ให้ถูกแดดซ้ำ



 ชนิดของ ฝ้า

 ฝ้า แบ่งได้เป็น ๒ ชนิด ตามความลึกของการเกิดฝ้า คือฝ้าแบบตื้น และฝ้าแบบลึก

       ฝ้าแบบตื้น จะอยู่ในระดับผิวหนังกำพร้า (ผิวหนังชั้นนอก) มักมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลขอบชัด เกิดได้ง่าย และสามารถรักษาให้หายได้เร็ว นอกจากนี้ฝ้าชนิดนี้ยังรักษาโดยการใช้ยาทาฝ้าอ่อนๆ และ ครีมกันแดด ก็สามารถลบเลือนให้หายได้

       ฝ้าแบบลึก จะมีอาการผิดปกติ อยู่ในชั้นที่ลึกกว่าชนิดแรก โดยจะเกิดฝ้าในระดับที่ลึกกว่าผิวหนังกำพร้า จะเกิดความผิดปกติในระดับชั้นผิวหนังแท้ มีลักษณะเป็นสีม่วงๆ อมน้ำเงิน ขอบเขตไม่ชัด รักษาได้ยากกว่าฝ้าชนิดตื้น และไม่ค่อยหายขาด การใช้ยาทาฝ้าอ่อนๆ และ ครีมกันแดด เพียงแต่ช่วยให้ดีขึ้นเท่านั้น

บางคนก็เป็นฝ้าชนิดใดชนิดหนึ่ง หรืออาจจะเป็นทั้ง ๒ ชนิดพร้อมกันก็ได้

 สาเหตุของการเกิดฝ้า

      ฝ้าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน มีผลทำให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสีในชั้นผิวหนัง ปัจจัยเหล่านี้อาจได้แก่

         แสงแดด เชื่อว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด แสงอัลตราไวโอเลตทั้ง เอ และ รวมทั้งแสงvisible light เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดฝ้า หรือ ทำให้เป็นฝ้าได้มากขึ้น แสงอุลตราไวโอเลต จะมีมากในช่วงเวลา 10.00-14.00 น. แสงแดดในช่วงนี้มีผลทำให้ ผิวหนังเกิดการไหม้เกรียม และเกิดฝ้าได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดในช่วงเวลา ดังกล่าว

        ฮอร์โมน ด้วยอิทธิพลของ ฮอร์โมน จะทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย (เช่น การตั้งครรภ์, วัยหมดประจำเดือน) หรือได้รับ ฮอร์โมน จากภายนอกร่างกาย (เช่น รับประทานยาคุมกำเนิด, การใช้ เครื่องสำอาง บางชนิดที่มี ฮอร์โมน ผสมอยู่) จึงมักพบผู้ที่เป็นฝ้าขณะตั้งครรภ์ หรือ รับประทานยาคุมกำเนิดได้บ่อย

      ยา พบว่าผู้ที่รับประทานยากันชักบางชนิด มักเกิดผื่นดำคล้ายรอยฝ้าที่บริเวณใบหน้า จึงเชื่อว่ายานี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดฝ้า

เครื่องสำอาง การแพ้ส่วนผสมในเครื่องสำอางอาจทำให้เกิดรอยดำแบบฝ้าได้ ส่วนผสมเหล่านี้อาจเป็นพวกสารให้กลิ่นหอม หรือ สี

พันธุกรรม เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากมีรายงานว่าเป็นในครอบครัวได้ถึง ร้อยละ30-50

ภาวะทุพโภชนาการ อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากพบผื่นแบบฝ้า ในผู้ที่มีหน้าที่การทำงานของตับผิดปกติ และ ผู้ที่ขาดวิตามินบี12


การป้องกันและรักษาฝ้า

 เมื่อทราบถึงสาเหตุการเกิดฝ้าแล้ว เราควรหลีกเลี่ยง สิ่งที่จะก่อให้เกิดฝ้าดังนี้

ควรหลีกเลี่ยงจากแสงแดด ความร้อน โดยใช้สิ่งกำบังหรือป้องกัน เช่น ร่ม หมวก ผ้า คลุมหน้า เป็นต้น กรณีสงสัยว่ายาคุมกำเนิดที่รับประทานอยู่เป็นสาเหตุที่ ทำให้เกิดฝ้า ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร

ไม่ควรใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ ผ่องใส ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ไม่เครียดหรือ วิตกกังวล เพราะอาจเกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนได้

ควรทดสอบเครื่องสำอางก่อนใช้ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เกิดอาการแพ้ เมื่อใช้ เครื่องสำอางนั้นสำหรับการรักษาฝ้า ถ้ามีฝ้าขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากถูกแสงแดด ควรระวังและหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกแสงแดดซ้ำอีก จะช่วยให้ฝ้าจางหายไปได้ ในกรณีที่เป็นมาก ไม่ควร ใช้ยาหรือเครื่องสำอางด้วยตนเอง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ถ้าเป็นไม่มาก อาจใช้เครื่องสำอางสำ หรับฝ้าได้ แต่จะ ต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน และต้องใช้ให้ถูกวิธี

 คำถามเกี่ยวกับฝ้า
ถาม: ฝ้า รักษาหายได้หรือไม่?

ตอบ: ผลการรักษาฝ้าขึ้นกับ สาเหตุและชนิดของฝ้า ฝ้าที่เกิดจากการรับประทานยาคุมกำเนิด หรือ ยากันชัก ถ้าหยุดยาฝ้า จะค่อย ๆ จางหายไป เช่นเดียวกับฝ้าที่เกิดระหว่างตั้งครรภ์ แต่บางรายอาจหายไม่หมด เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดฝ้าได้ ฝ้าชนิดลึก จะรักษายากกว่าฝ้าชนิดตื้น การหลีกเลี่ยงแสงแดด ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ฝ้าหายเร็วขึ้น

 ถาม: ทาครีมทาฝ้าทั่วใบหน้าได้หรือไม่?

ตอบ: ครีมทาฝ้า เป็นครีมที่เหมาะกับการรักษาเฉพาะจุดที่เป็นฝ้า มีการออกฤทธิ์กับผิวหนัง โดยการย่อยเซลล์ที่ตายแล้ว และผลัดเซลล์นั้นออกจากชั้นผิวหนัง หากเรานำครีมทาฝ้าไปทาที่ผิวหนังบริเวณอื่นที่ไม่ได้เป็นฝ้า ครีมจะเข้าไปทำการย่อยเซลล์ที่สมบูรณ์ของเราออกไปโดยไม่จำเป็น ซึ่งผิวหนังที่สมบูรณ์จะมีชั้นผิวที่บางกว่าเซลล์ที่ตายแล้ว อาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นระคายเคืองได้ จึงควรทาครีมเฉพาะบริเวณที่มีฝ้าเท่านั้น

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

โรคไตมีอาการอย่างไร


โรคไตมีอาการอย่างไร

        เมื่อพูดถึง โรคไต คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า คือ โรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งหมายถึง การสูญเสียการทำงานของไตไปอย่างถาวร และถ้าเข้าสู่ ระยะสุดท้าย ก็ต้องได้รับการฟอกเลือด หรือเปลี่ยนไต เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ไปได้ จริงๆ แล้ว โรคไต มีอยู่หลายชนิด แต่ก่อนที่เราจะรู้จักโรคไตนั้น ควรทำความรู้จักกับไตก่อน



ไต เป็นอวัยวะรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วเหลือง มี 2 ข้างอยู่บริเวณบั้นเอว หน้าที่สำคัญของไต คือ

 
1.ขับถ่ายของเสียที่เกิดจากการแตกตัวของโปรตีนในอาหารออกจากร่างกาย
 
2.รักษาสมดุลของน้ำ เกลือแร่ กรอและด่างของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
 
3.ควบคุมความดันโลหิต
 
4.สร้างฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงในไขกระดูก
ไต เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบทางเดินปัสสาวะ ส่วนที่ต่อจากท่อไต (URETER) ซึ่งจะนำปัสสาวะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ เข้าสู่ท่อปัสสาวะ (URETHRA) ในเพศชายจะมีต่อมลูกหมาก อยู่โดยรอบท่อปัสสาวะ

โรคไตและระบบปัสสาวะ แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ

 
1.โรคที่เกิดจากการอักเสบ ในส่วนของไตที่มีหน้าที่กรอง (โกสเมอรูรัส - GLOMERULUS) หรือเกิดจากภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย ไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ได้แก่ กลุ่มอาการเนฟโฟติค (NEPHROTIC) และไตอักเสบ (NEPHRITIS)
 
2.โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไต ที่เป็นท่อเล็กๆ (TUBULE) และเซลล์ที่ผยุงไตให้เป็นรูปร่าง (INTERSTIJIUM) ซึ่งเราเรียกรวมๆ ว่า โรคของ TUBULO INTERSTITIUM โรคที่พบบ่อย คือ การตายของเนื้อเยื่อที่ท่อไต (ACUTETUBULAR NECROSIS) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของ ไตวายเฉียบพลัน
 
3.โรคติดเชื้อ เช่น โรคติดเชื้อจากบคทีเรีย ของทางเดินปัสสาวะ
 
4.โรคที่เกิดจากการอุดตันทางเดินปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต, นิ่ว เป็ฯต้น
 
5.โรคไตที่มีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ เช่น โรคถุงน้ำที่ไต
 
6.เนื้องอกในไต
 
7.โรคทางด้านร่างกาย ที่มีแนวโน้มจะทำให้ การทำงานของไตเสื่อมลง เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง
ภาวะไตวายคือ ภาวะที่มีการสูญเสียการทำงานของไต แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

 
1.ไตวายเฉียบพลัน โดยช่วงเวลาที่เกิดขึ้นจะเป็นชั่วโมง หรือ เป็นวันทำให้เกิดการคั่งของ ของเสียทำให้เกลือแร่ กรด ด่าง และ การควบคุม ปริมาณน้ำในร่างกายผิดปกติ ถ้าไม่ได้รับการรัดษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่ จะมีปริมาณปัสสาวะต่อวันน้อยกว่า 400 ซีซี สาเหตุของไตวายเฉียบพลัน มีหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติ ของการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย เช่น ผู้ป่วยที่ช๊อกจากการติดเชื้อ, เสียเลือดจำนวนมาก หรือขาดน้ำอย่างรุนแรงจากท้องเสีย การใช้คำว่า "เฉียบพลัน" นอกจากบ่งถึง ช่วงเวลาระยะสั้นที่เกิดขึ้นแล้ว ยังบ่งถึงความเป็นไปได้ ที่ไตจะกลับสู่ภาวะปกติได้
 
2.ไตวายเรื้อรัง คือการสูญเสียการทำงานของไต ที่เป็นไปอย่างช้าๆ และถาวร ช่วงเวลาอาจตั้งแต่ 1-2 ปี จนถึง 10 ปีขึ้นไป จนในที่สุดเข้าสู่ภาวะสุดท้ายของไตวาย (END STAGE OF RENAL FAILURE) ซึ่งหมายถึง ภาวะที่ต้องการการรักษา แบบทดแทน (เช่น ฟอกเลือด, เปลี่ยนไต) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้
อาการและสัญญาณบอกเหตุ ของผู้ป่วยโรคไต

 
1.ปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งอาจเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรืออาจมีสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ
 
2.มีโปรตีนหรือไขขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้ปัสสาวะที่ออกมามีฟองมาก และฟองไม่สลายตัวไปง่ายๆ (การมีฟองในปัสสาวะเล็กน้อยถือเป็นเรื่องปกติ)
 
3.อาการบวมรอบๆ ตาและข้อเท้า
 
4.อาการปวดหลัง จะปวดบริเวณบั้นเอว บางครั้งก็ร้าวที่ขาหนีบ และลูกอัณฑะ หากความเจ็บปวดเกิดขึ้น เหนือกระดูกหัวเหน่า แสดงว่า มีการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ และถ้าความเจ็บปวดเกิดขึ้น พร้อมกับอาการไข้และหนาวสั่น แสดงว่ามีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะส่วนบน คืแท่อไตและกรวยไต สิ่งที่ต้องคำนึงไว้ คือ อาการปวดหลัง ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับไตเสมอไป เนื่องจจากส่วนหลังของร่างกาย ยังมีกระดูกกล้ามเนื้อ และเส้นประสาท ความเป็นจริงที่พบคือ โรคไตส่วนใหญ่ที่พบ ก็ไม่ได้มีอาการปวดหลัง
 
5.ปัสสาวะลำบาก สาเตุจากนิ่ว หรือต่อมลูกหมากโต
 
6.อาการของไตวาย ผู้ป่วยที่ไตวายไม่มากนักจะไม่ปรากฎอาการให้เห็น แต่จะทราบโดยการเจาะเลือด ตรวจดูการทำงานของไต ที่สำคัญ คือ ระดับยูเรียไนโตรเจน (BLOOD UREA NITROGEN - BUN) และระดับเครียตินิน (SERUM CREATININE) เมื่อไตวายเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยมีอาการที่เราเรียกว่า "กลุ่มอาการยูรีเมีย" ซึ่งเกิดจากการที่มีของเสียสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดความผิดปกติ ของการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ผิวซีด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อ่อนเพลีย คันไปทั้งตัว บวมที่ส่วนหน้าและส่วนขา ปัสสาวะบ่อยครั้งในเวลากลางคืน และเกิดหัวใจล้มเหลว
การล้างไต

ที่ใช้อยู่มี 2 วิธี คือ การล้างไตทางหน้าท้อง และการฟอกเลือดโดยใช้เครื่องไตเทียม เนื่องจากการล้างไต เป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เพราะฉะนั้น กรณีผู้ป่วยยังไม่มีอาการทางยูรีเมีย เช่น ยังรู้สึกสบายดี ไม่เพลีย ไม่คลื่นไส้ สมรรถภาพหัวใจ ยังอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ และไม่มี ภาวะทุโภชนาการ แพทย์จึงดูแลแบบประคับประคองไปก่อน บางครั้งแพทย์ที่ดูแลจะใช้ผลเลือด เป็นเกณฑ์ในการแนะนำ ให้ผู้ป่วยเข้าโปรแกรมล้างไต คือ ค่าซีรัม BUN ควรจะเกิน 100 mg/d หรือค่าซีรัมเครียตินิน ควรเกิน 9 mg/d ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรมีกาอารยูรีเมียร่วมด้วย

ข้อบ่งชี้ที่แน่นอนและชัดเจนของผู้ป่วยที่ควรเริ่มทำการล้างไต

 
1.ผู้ป่วยที่มีการทำงานของสมองผิดปกติ ซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว
 
2.มีการอักเสบของเยื้อหุ้มปอด และเยื้อหุ้มหัวใจจากยูรีเมีย
 
3.มีความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย เ่นมีอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า แขนขาอ่อนแรง
 
4.มีภาวะน้ำเกินหรือหัวใจล้มเหลวบ่อยๆ
 
5.มีโพแทสเซียมในเลือดสูงบ่อย ๆ และไมาสามารถควบคุมได้ โดยการใช้ยา
 
6.มีภาวะเป็นกรดในเลือด และไม่สามารถควบคุมโดยการให้ยารักษา

 
  แหล่งข้อมูล : สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดนครปฐม - province.moph.go.th/nakhonpathom

วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

กินอาหารเค็มมากส่งผลร้ายต่อร่างกาย

กินอาหารเค็มมากส่งผลร้ายต่อร่างกาย


โซเดียมคือ เกลือแร่ (สารอาหาร) ชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยโซเดียมจะทำหน้าที่ควบคุม ความสมดุลของของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิต ให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงาน ของประสาทและกล้ามเนื้อ (รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจด้วย) ตลอดจนการดูดซึมสารอาหาร บางอย่าง ในไตและลำไส้เล็ก



โซเดียมที่เราบริโภคกันเป็นประจำก็คือโซเดียมที่อยู่ในรูปของ เกลือแกง (เกลือ มีส่วนประกอบอยู่ ๒ อย่าง คือโซเดียมกับคลอไรด์) น้ำปลา ซึ่งมีรสเค็ม แต่ยังมีอาหารอีกมากชนิดที่ไม่มีรสเค็ม แต่มีโซเดียม แฝงอยู่สูงมาก ชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง จึงเป็นความจำเป็นที่เราทุกคน ต้องรู้ว่าอาหารชนิดใดบ้าง ที่มีโซเดียมสูง เพื่อจะได้ไม่เผลอกินเพลินจนเจ็บป่วย ซึ่งจากการสำรวจพบว่าคนไทยกินเกลือ ที่มีอยู่ ในอาหารและเครื่องปรุงรส โดยเฉลี่ยวันละประมาณ ๗ กรัม นี่เป็นคำตอบว่าทำไมคนไทย จึงป่วย ด้วยโรค จากการกินเพิ่มขึ้นทุกวัน



*** อาหารที่มีโซเดียม ได้แก่
๑. อาหารธรรมชาติ หลายคนอาจ เพิ่งทราบว่าโซเดียมมีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติแทบทุกชนิด โดยอาหารจาก เนื้อสัตว์ต่างๆ จะมีโซเดียมสูง ส่วนอาหารธรรมชาติที่มีโซเดียมต่ำ ได้แก่ ผลไม้ทุกชนิด ผัก ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง และเนื้อปลา ซึ่งอาหารสดเหล่านี้มีปริมาณโซเดียมที่เพียงพอ กับความต้องการของร่างกาย โดยไม่จำเป็นต้อง เรียกหาเครื่องปรุงรสใดๆ เลย (นอกจากความอยาก หรือกิเลสส่วนตัวเรียกร้อง)

๒. อาหารแปรรูปหรือการถนอมอาหาร ได้แก่ อาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารเค็ม อาหารตากแห้ง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักดอง ผลไม้ดอง เป็นต้น

๓. เครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ เช่น เกลือ (ทั้งเกลือเม็ดและเกลือป่น) น้ำปลา (ซึ่งจะมีปริมาณของเกลือ แตกต่างกันคือ ร้อยละ ๒๓-๓๕) ซอสปรุงรสที่มีรสเค็ม (เช่น ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว น้ำบูดู กะปิ ปลาร้า ปลาเจ่า เต้าหู้ยี้ รวมทั้งซอสหอยนางรม) ซอสปรุงรสที่ไม่มีรสเค็มหรือเค็มน้อย (เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มต่างๆ ที่มีรสเปรี้ยวๆ หวานๆ ซอส เหล่านี้แม้จะมีโซเดียมปริมาณไม่มากเท่าน้ำปลา แต่คนที่ต้องจำกัดโซเดียมก็ต้องระวังไม่กินมากเกินไป)

๔. ผงชูรส แม้เป็นสารปรุงรสที่ไม่มีรสเค็ม แต่ก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยประมาณร้อยละ ๑๕ และที่เรารู้ๆ กันอยู่ก็คือ อาหารสำเร็จรูปต่างๆ ที่ขายในท้องตลาด มักมีการเติมผงชูรสลงไป แทบทุกชนิด เพื่อให้อาหารมีรสอร่อยขึ้น หรือแม้การปรุงอาหารในบ้าน หลายครัวขาดผงชูรสไม่ได้เลย (ความอร่อยนี้เป็นสิ่งเสพติดที่มีโทษต่อสุขภาพ)

๕. อาหารกระป๋องต่างๆ เช่น ผลไม้กระป๋อง ปลากระป๋อง และอาหารสำเร็จรูปต่างๆ ขนมกรุบกรอบ เป็นถุง เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้มีการเติมเกลือหรือสารกันบูด ซึ่งมีโซเดียมในปริมาณที่สูงมาก

๖. อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปต่างๆ ทั้งชนิดก้อนและชนิดซอง

๗. ขนมต่างๆ ที่มีการเติมผงฟู (Baking Powder หรือ baking Soda) เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง ซึ่งผงฟูที่ใช้ในการทำขนมเหล่านี้มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ (โซเดียมไบคาร์บอเนต) รวมถึงแป้งสำเร็จรูป ที่ใช้ทำขนมเองก็มี โซเดียมอยู่ด้วย เพราะได้ผสมผงฟูไว้แล้ว

๘. น้ำและเครื่องดื่ม น้ำฝนเป็นน้ำที่ปราศจากโซเดียม แต่น้ำบาดาลและน้ำประปามีโซเดียมปนอยู่บ้าง ในจำนวนไม่
มากนัก ส่วนเครื่องดื่มเกลือแร่ยี่ห้อต่างๆ มีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วย เพราะมี จุดประสงค์ ให้เป็นเครื่องดื่ม สำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่สูญเสียเหงื่อมาก ส่วนน้ำผลไม้บรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง ก็มักมีการเติมสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) ลงไปด้วย ทำให้น้ำผลไม้เหล่านี้ มีโซเดียมสูง วิธีหลีกเลี่ยงคือดื่ม น้ำผลไม้สดจะดีกว่า

โดยภาพรวมจะเห็นว่าอาหารปรุงแต่ง มาก อาหารแปรรูปที่ผ่านกระบวนการต่างๆ จะมีโซเดียมสูง ดังนั้น ถ้ากินอาหารแปรรูป หรืออาหารสำเร็จรูปมากหรือบ่อยเท่าไหร่ เราก็จะได้รับโซเดียมส่วนเกิน วันละเยอะแยะ มากมาย ทั้งที่ความจริงแล้ว ร่างกายต้องการเกลือ ในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะร่างกายไม่สามารถทนรับเกลือ ในปริมาณมากๆ ได้ โดยเฉพาะทารกและเด็กเล็ก ที่ไม่สามารถ ขับถ่ายโซเดียมได้ดี เท่ากับผู้ใหญ่ ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรเติมเกลือในอาหารของลูกเล็กๆ หรือซื้ออาหาร สำเร็จมาให้ลูกกิน (ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ) ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็มีประกาศในเรื่องนี้ อย่างเคร่งครัด ที่ห้ามผู้ผลิตเติมเกลือหรือสารประกอบโซเดียมใดๆ ในอาหารเด็ก (แต่ก็ต้องระวัง เพราะอาจจะมีหลงหู หลงตาไปบ้าง)

*** กินเกลือให้น้อยลง
อย่างที่ได้ทราบกันแล้วว่าอาหารหลายชนิดมีเกลือ "ซ่อนเร้น" อยู่ ดังนั้นวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยลดการบริโภค เกลือลงคือ พยายามใช้เกลือ (น้ำปลา หรือซีอิ๊ว) ให้น้อยลงในการประกอบอาหาร หรือปรุงรสเวลากิน และอย่าลืมอ่านฉลากอาหาร ต่างๆ ทุกครั้งก่อนซื้อมากิน หรือคนที่ อ่านฉลากเสมอบางคน ก็ดูแค่เพียง ปริมาณแป้ง ไขมัน หรือน้ำตาลเท่านั้น แต่ลืมดูปริมาณของโซเดียม โดยทั่วไปฉลากอาหาร มักระบุปริมาณเกลือในรูปปริมาณโซเดียม วิธีเทียบหาปริมาณเกลือคือ ถ้าหน่วยของโซเดียม ที่ให้มา เป็นกรัม (ก.) ให้คูณด้วย ๒.๕ แต่หากหน่วยเป็นมิลลิกรัม (มก.) ให้คูณด้วย ๒.๕ แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้ มาหารด้วย ๑,๐๐๐ ปริมาณโซเดียมที่คนเราต้องการคือ วันละ ๐.๕ - ๒.๓ กรัม

อาหารเค็มจัดหรืออาหารที่มีโซเดียม สูง กำลังก่อให้เกิดโรคกับผู้คนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ โรคความดันโลหิตสูง ที่ได้ชื่อว่าเป็น "ฆาตกรเงียบ" เพราะมันมาแบบเงียบๆ แบบไม่มีสัญญานเตือน และกว่าจะรู้ตัว ก็ปรากฏว่า เป็นโรคความดันโลหิต สูงไปเสียแล้ว โรคนี้เป็นแล้วไม่หายขาด ขึ้นอยู่กับ การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยรายใด มีวินัยในการกินตามที่แพทย์แนะนำ ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ อย่างปกติสุขตามอัตภาพ แต่หากละเลยการดูแลตัวเอง ในที่สุดก็ จะมีโรคอื่นแทรกซ้อนตามมาอีก มากมาย และเมื่อนั้นความสุขในชีวิตก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะมีความทุกข์ ทรมานจากโรคต่างๆ มาเบียดเบียน

ที่มา http://www.asoke.info

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

วิธียืดเส้นก่อนออกกำลังกาย


วิธียืดเส้นก่อนออกกำลังกาย

อันนี้สำคัญครับถ้าพี่น้องไม่ยืดเส้นก่อนออกกำลังกายหนักๆอย่างวิดพื้นอะไรเเบบนี้จะปวดหรือเมื่อยมากหลังออกกำลังกายครับพี่น้อง

     วิธียืดเส้นก่อนออกกำลังกายหรือก็คือวิธีวอร์มร่างกายนั่นเองค่ะ ซึ่งสิ่งนี้ควรทำทุกครั้งก่อนการออกกำลังกายไม่ว่าจะออกกำลังกายแบบไหนก็ตาม วิธียืดเส้นก่อนออกกำลังกาย หรือ วิธีวอร์มร่างกาย นั้นจะช่วยให้ร่างกายของเรานั้นยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นซึ่งจะช่วยลดอาการบาดเจ็บอันจะเกิดขึ้นได้หากว่าไม่ได้




ทำขั้นตอนของ วิธียืดเส้นก่อนออกกำลังกาย หรือ วิธีวอร์มร่างกาย นั่นเองค่ะ และวันนี้เราก็มีวิธียืดเส้นก่อนออกกำลังกายหรือวิธีวอร์มร่างกายมาฝากกันด้วยค่ะ ใครอยากรู้ก็มาลองปฏิบัติตามกันดูได้เลยได้วอร์มอัพร่างกายได้อย่างถูกต้องและถูกวิธีกัน




วิธียืดเส้นก่อนออกกำลังกาย


1. ยืนหันหน้าเข้าหาเสาหลัก วางฝ่ามือทั้งสองข้างลงไปให้มีความห่างมากกว่าช่วงไหล่เล็กน้อย

2. ก้าวเท้าเดินถอยหลังออกไปพร้อม ๆ กับขยับมือเลื่อนต่ำลงมาเรื่อย ๆ จนตำแหน่งที่วางมืออยู่ในระดับความสูงเท่ากับช่วงตัว

3. กดน้ำหนักที่มือทั้งสองข้างเล็กน้อย เหยียดแขนให้ตึง ยืดลำตัวและผลักสะโพกออกไปด้านหลัง

4. เปิดขาห่างกัน ความกว้างระหว่างขาทั้งสองประมาณเท่าสะโพก

5. ปลายเท้าชี้ตรงไปด้านหน้า ยืนให้เต็มฝ่าเท้า และพยายามเหยียดขาตรง ปล่อยศีรษะและคอสบาย ๆ

6. เหยียดแขนให้ตึง ยืดหลังตึง และยืนให้ขาตรงเป็นมุมฉากกับพื้น

7. ค้างไว้ในท่า ไม่ว่าจะรู้สึกตึงแค่ไหนก็ขอให้อดทนไว้

8. เอาสมาธิออกจากความตึงไปไว้ที่ลมหายใจ นับลมหายใจเข้าออกช้า ๆ 5-10 ลมหายใจ

9. คลายท่า พักสักครู่แล้วทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์

ที่มา n3k.in.th