ไมเกรนคืออะไร
ปัจจุบันนี้ ไมเกรนได้กลายเป็นปัญหาที่สร้างความหนักใจให้กับผู้หญิงส่วนใหญ่ จากการสำรวจพบว่าผู้หญิงร้อยละ 18 ต้องเผชิญกับปัญหานี้ต่างกับผู้ชายที่พบว่าเป็นเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นเอง
อาการปวดหัวที่เกิดถ้านาน ๆ เป็นทีก็ไม่ควรวิตกกังวลให้มากนัก แต่เมื่อไรที่คุณเป็นถี่มากขึ้น หรือมีการปวดมากจนไม่สามารถทำงานได้ อย่านิ่งนอนใจ ลองอ่าน 15 ข้อแนะนำต่อไปนี้ แล้วลองพิจารณาดูว่า คุณเข้าข่ายเป็นไมเกรนหรือแค่ปวดหัวธรรมดากันแน่
1. อย่าคิดว่าไมเกรนเป็นแค่อาการปวดหัวธรรมดา
คนที่เป็นไมเกรนจะปวดหัวรุนแรง และมักปวดหัวข้างเดียว ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาโดยทันที คุณอาจจะต้องทรมานปวดหัวต่อไปอีก ถึงวันละ 4 ชั่วโมง นานถึง 3 วันติดกัน นอกจากนี้อาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ แพ้แสงในลักษณะเห็นแสงแบบดาวระยิบระยับ หรือมักได้กลิ่นแปลก ๆ ที่ไม่เหมือนกับคนอื่น หากยังละเลยปล่อยทิ้งไว้โดยไม่พบแพทย์ แน่นอนว่าอาการของคุณก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ
2. อย่าเก่งด้วยการเป็นหมอรักษาตัวเอง
หลายคนพยายามที่จะรักษาอาการปวดหัวด้วยตัวเองซึ่งถือว่าผิดมนันต์ จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยไมเกรน 58 คน จาก 100 คน ไม่เคยขอรับคำปรึกษาจากแพทย์เลย ถึงแม้ยาแก้ปวดจะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวชั่วคราวได้ก็จริง แต่หากอาการเข้าข่ายเป็นไมเกรน ยาแก้ปวดพาราเซตามอล 2 เม็ดคงไม่พอ แต่การเพิ่มปริมาณยาให้มากขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการติดยาในเวลาต่อมา เพราะบางคนอาจทานยาถึง 16 วันใน 1 เดือน หรือมากกว่า 180 วันใน 1 ปี ด้วยเหตุนี้จึงพบว่า ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งยังคงมีอาการปวดหัวอยู่ เนื่องจากทานยาแก้ปวดมากเกินไปนั่นเอง
อย่างไรก็ดี หากปวดหัวอยู่เป็นประจำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องจะดีกว่า และให้ระมัดระวังยาที่ "เพื่อนบอกว่าใช้แล้วดี" ด้วยเพราะไม่รู้ว่ายาตัวนั้นจะเหมาะกับเราหรือไม่
3. อย่าทานยาแก้ปวดต่างชนิดในวันเดียวกัน
หากคุณปวดหัวแล้วไม่ได้ไปปรึกษาแพทย์ ก็อย่าทานยาแก้ปวดหัวที่ต่างชนิดกันบ่อย ๆ เพราะอาจจะทำให้มีอาการแย่ลงยิ่งกว่าเดิม ไม่เพียงแค่นั้นยังทำให้แพทย์สันนิษฐานไม่ได้ หากเกิดอาการแพ้ยาขึ้น นอกจากนี้อย่าทานยาตอนท้องว่าง เพราะอาจทำให้กระเพาะเกิดการระคายเคือง ทางที่ดีแล้วควรทานอาหารรองท้องก่อนเล็กน้อย แล้วค่อยทานยาเพื่อให้การดูดซึมยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
4. ไม่ควรทานยาช้าเกินไป
เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกปวดหัว ไม่ควรเพิกเฉย แต่ควรสังเกตอาการเริ่มแรกให้ดีเพื่อที่จะได้หายามาทานให้ทันท่วงที เพราะหากช้าเกินไป เพียงแค่เราสัมผัสผมก็อาจทำให้ปวดหัวได้ ถ้าถึงตอนนั้นยาตัวใดก็ไม่สามารถช่วยระงับอาการปวดได้ สัญญาณเตือนที่บอกว่าคุณอาจจะเป็นไมเกรนคือ อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย เฉื่อยชา โมโหง่าย อยากอาหารบางอย่างเช่น ของหวาน ๆ และออกอาการหาวแต่ไม่ได้ง่วงนอน
5. หากปวดหัวมากกว่า 3 ครั้งต่อเดือน ยาแก้ปวดก็ช่วยไม่ได้แล้ว
หากคุณมีอาการอย่างนี้บ่อย ๆ การบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติ บางทีก็น่าลองดู เช่น อาจจะจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำหรือขี่จักรยาน ถ้าไม่ถนัดกีฬาที่กล่าวมา ก็อาจจะเล่นกีฬาชนิดไหนก็ได้ที่คุณชอบ เพียงแต่ขอให้เป็นการเคลื่อนไหวเบา ๆ เพียงแค่วันละ 15 นาที ก็เพียงพอแต่ถ้าแค่คิดก็เหนื่อยแล้ว ลองเปลี่ยนวิธีเป็นเดินในห้างสรรพสินค้าดูก็ได้นะ
แต่ก็มีบางคนที่จะต้องทานยาทุกวัน ถึงแม้ว่าจะไม่ปวดหัวก็ตาม ตัวยาเหล่านี้แตกต่างจากยาแก้ปวดทั่วไปคือ ช่วยบรรเทาอาการปวดหัว โดยทำให้ระบบทางเดินโลหิตและระบบประสาททำงานเป็นปกติ
6. หาสาเหตุให้ได้ว่า ทำไมเราจึงปวดหัว
สาเหตุที่ทำให้ปวดหัวมีมากเหลือเกิน แต่ละคนก็ปวดหัวด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นควรหาสาเหตุให้ได้ว่าทำไมเราจึงปวดหัว เมื่อรู้แล้วจะได้หลีกเลี่ยงไม่ทำอย่างนั้น และพร้อมที่จะเผชิญกับมัน
7. อย่าเปลี่ยนกิจวัตรบ่อย ๆ
การนอนมากหรือน้อยกว่าปกติ การทานอาหารมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ล้วนเป็นสาเหตุที่อาจทำให้ปวดหัวได้ การที่ทำกิจวัตรต่าง ๆ ไม่ต่อเนื่องกันนี้เสี่ยงต่อการปวดหัวโดยเฉพาะกับคนที่เป็น "ไมเกรนช่วงสุดสัปดาห์" ซึ่งไม่ควรเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันช่วงวันเสาร์-อาทิตย์มากนัก และอย่าได้ประเมินค่าการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรต่าง ๆ เหล่านี้ต่ำเกินไป โดยเฉพาะยิ่งถ้าหากคุณเพิ่งฟื้นไข้ คุณจะต้องทานยาที่ถูกต้องและพกยาติดตัวไว้เสมอ เผื่อว่าเกิดปวดหัวขึ้นมากะทันหัน ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจทำให้ปวดหัวได้
8. อย่าคิดว่าการปวดหัวเป็นผลเคียงจากการมีประจำเดือน
การที่คุณปวดหัวทุกครั้งในช่วงที่มีประจำเดือนหรือช่วง 2 วันแรกก่อนมีประจำเดือนถึงจะแสดงว่าคุณเป็น "ไมเกรนในช่วงมีประจำเดือน" ซึ่งเกิดจากการที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดต่ำลง ทำให้ปวดหัวนานกว่าเดิม มากกว่าเดิม และรักษายากยิ่งกว่าเดิม ในกรณีนี้ไม่ควรเพิกเฉยต่ออาการดังกล่าวแต่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูอาการให้แน่ใจ
9. ยาที่ใช้รักษาโรคอื่นอาจทำให้ปวดหัวได้
ยาที่แพทย์สั่งให้ทานเพื่อรักษาโรคอื่นที่เป็นอยู่อาจมีผลข้างเคียงทำให้เราปวดหัวมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้ในกรณีนี้ลองให้แพทย์สั่งยาตัวอื่นที่รักษาโรคนั้น ๆ ได้และไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ มาทานแทน
10. อย่าพยายามเอาชนะโรคไมเกรนสุดสัปดาห์
บางคนมักปวดหัวในช่วงสุดสัปดาห์เนื่องจากการพักผ่อนมากเกินไป การพักผ่อนนี้ก็เป็นผลมาจากความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นตลอดวันทำงานที่ผ่านมา ทางที่ดีเราควรหลีกเลี่ยงเรื่องเครียดต่าง ๆ แล้วหากิจกรรมอื่นทำ เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นกับสุนัข
11. อย่าหยุดทานยาคุมกำเนิดเพียงเพราะว่าปวดหัว
สำหรับผู้หญิงบางคนถ้าทานยาคุม ไมเกรนจะกำเริบมากยิ่งขึ้น ในกรณีนี้ให้นำยาไปให้สูตินารีแพทย์ดู เผื่อว่าแพทย์จะสั่งยาคุมตัวอื่นที่เหมาะกับเราให้เราลองทานดูได้ อย่างไรก็ตามหญิงสาวที่เป็นไมเกรน และทานยาคุมด้วยนั้นจะต้องไม่สูบบุหรี่เป็นอันขาด เพราะจะเสี่ยงต่อการที่เลือดแข็งตัวผิดปกติ
12. หากคุณอยู่ในช่วงวัยทองอย่าทำการบำบัดฮอร์โมน
การบำบัดฮอร์โมน อาจยิ่งทำให้อาการปวดหัวแย่ลง หากจำเป็นจริง ๆ ให้แพทย์สั่งยาที่จะช่วยคงสมดุลของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ที่เหมาะกับเราให้ดีกว่า
13. อย่าทานยาแก้ปวดหัวในขณะที่ตั้งครรภ์อยู่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกที่ตั้งครรภ์เพราะยาแก้ปวดบางตัวอาจทำให้แท้ลูก หรือทำให้ลูกที่อยู่ในครรภ์พิการได้ ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าทานยาได้หรือไม่ ควรไปปรึกษาแพทย์เสียก่อน
14. อย่ารักษาแต่อาการปวดหัวอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ก็ต้องรักษาด้วย
โดยปกติไมเกรนอาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย เช่น วิงเวียนและคลื่นไส้อาเจียน ในกรณีนี้ให้ทานยาแก้วิงเวียน ซึ่งจะทำให้กระเพาะอาหารซึมซับยาได้ดีขึ้นและทำให้หายปวดหัวได้ ส่วนอาการแทรกซ้อนอีกย่างก็คือ คลื่นไส้อาเจียน ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์สั่งยาให้
15. ไม่ได้มีแต่ยาที่ช่วยแก้ปวดหัว
หากคุณได้รับความทุกข์ทรมานจากการปวดหัวอยู่บ่อย ๆ ยังมีทางเลือกอื่นที่จะรักษาอาการปวดหัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผู้เชี่ยวชาญพิเศษแนะนำนั่นก็คือ ไบโอฟีดแบ็ก (Biofeedback) คือกรรมวิธีการรักษาผู้ที่ป่วยเป็นโรคไมเกรน หรือโรคเครียดที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง นอกจากนี้ยังช่วยรักษาผู้ที่เป็นแผลเรื้อรัง ระบบขับถ่ายไม่ดี ความดันเลือดสูง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ฯลฯ เทรนนิ่งออโตเจโน (Training Autogeno) คือการควบคุมตัวเองเพื่อให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย เหมาะกับคนที่ชอบวิตกกังวล เป็นไมเกรน มีความเครียดสูงหรือเป็นโรคหอบหืด และการฝังเข็ม วิธีการเหล่านี้ต่างก็ได้รับการยืนยันว่าช่วยลดอาการปวดหัวได้