บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โรคปอดบวมมีอาการอย่างไร


โรคปอดบวมมีอาการอย่างไร

        โรคปอดบวมเป็นโรคปอดและระบบทางเดินหายใจซึ่งเกิดจากภาวะถุงลมในปอดเกิดอักเสบและมีของเหลวไหลท่วม โรคปอดบวมอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือพยาธิ โรคปอดบวมอาจเกิดจากการที่ปอดได้รับสารเคมีหรือการกระทบกระเทีอนทางกายภาพได้เช่นกัน



         ผู้ป่วยโรคปอดบวมจะมีอาการโดยทั่วไปได้แก่ ไอ เจ็บหน้าอก มีไข้สูง และหายใจหอบ การวินิจฉัยจะกระทำโดยการฉายรังสีเอกซ์และการตรวจเสมหะ ส่วนวิธีการรักษาจะขึ้นกับสาเหตุของโรค เช่น โรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียจะรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

         โรคปอดบวมเป็นโรคที่พบได้ทั่วไป เกิดได้กับคนทุกวัย และเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยระยะสุดท้าย ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคปอดบวมแล้ว อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์โรคว่าผู้ป่วยมีโอกาสหายดีหรือไม่อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคปอดบวม การรักษาที่เหมาะสม ภาวะแทรกซ้อน และสุขภาพพื้นฐานของตัวผู้ป่วยเอง                                       

    โรคปอดบวม

          เป็นโรคที่มีอันตรายถึงชีวิตได้  พบว่าเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้เลี้ยงเด็กจะต้องรู้จักโรค สังเกตอาการเป็น เพื่อนำผู้ป่วยไปรับการรักษาเร็วที่สุด

          สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสและบักเตรีหลายชนิด


          การติดต่อ เช่นเดียวกับโรคหวัด คือ
          * หายใจเอาเชื้อโรคที่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป
          * ไอ จามรดกัน
          * คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นปอดบวม
          * สำลักเอาเชื้อบักเตรีที่มีอยู่โดยปกติในจมูกและคอเข้าไป ซึ่งมักพบในเด็กที่อ่อนแอ พิการ

          อาการ
          จะมีไอมาก หายใจหอบ หรือหายใจลำบากและไข้ ในเด็กโตอาจบ่นเจ็บหน้าอกหรือบริเวณชายโครงด้วย อาจเริ่มเหมือนหวัดก่อน 1-2 วัน ความรุนแรงของโรคปอดบวมในเด็กนั้น แบ่งเป็น 3 ชนิด ดังนี้
          1. โรคปอดบวมชนิดไม่รุนแรง  รักษาโดยกินยาที่บ้าน ผู้ป่วยจะมีอาการไอ และหอบ หรือหายใจเร็ว โดยใช้หลักเกณฑ์อัตราการหายใจ ดังนี้

          เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน หายใจหอบ คือ หายใจตั้งแต่ 60 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
          เด็กอายุ 2-11 เดือน     หายใจหอบ คือ หายใจตั้งแต่ 50 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
          เด็กอายุ 1-5 ปี            หายใจหอบ คือ หายใจตั้งแต่ 40 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
          เวลานับอัตราการหายใจต้องนับให้ครบ 1 นาทีในขณะที่เด็กสงบ ไม่ร้องหรือดิ้น ในเด็กเล็กให้ดูการกระเพื่อมขึ้นลงของหน้าท้อง อาจเปิดเสื้อขึ้นดูให้ชัด ถ้าเป็นในเด็กโตกว่า 7 ขวบ ให้ดูการเคลื่อนไหวของทรวงอก เคลื่อนโป่งออก และแฟบลงเป็น 1 ครั้ง

          2. โรคปอดบวมชนิดรุนแรงจะมีอาการไอและหายใจแรงมากจนทรวงอกส่วนล่าง (บริเวณลิ้นปี่ตลอดชายโครง) บุ๋มเข้าขณะหายใจเข้า จะมีหอบร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม แพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
          3. โรคปอดบวมชนิดรุนแรงมาก เด็กจะมีเสียงหายใจผิดปกติ อาจมีเสียงฮืดเวลาหายใจเข้าหรือเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือนมีเสียงหวีดเวลาหายใจออก หรือเด็กไม่กินนม-น้ำ ซึม ปลุกตื่นยาก หอบเหนื่อยมาก จนริมฝีปากเขียว ชัก ฯลฯ แพทย์จะต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล

          ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 เดือน ถ้าเป็นปอดบวมถือว่ารุนแรงทุกราย เด็กอาจมาด้วยอาการไข้สูง ไม่กินนมหรือน้ำ โดยอาจไม่ไอ แพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพราะมีอันตรายได้มาก อาการจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุก็แตกต่างกับเด็กโต จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะแตกต่างกัน

          การรักษา
          ถ้าเป็นปอดบวมไม่รุนแรง จะได้รับการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะไปกินที่บ้าน จะต้องให้เด็กกินยาสม่ำเสมอ ขนาดยาตามแพทย์สั่ง ควรอ่านฉลากยาก่อนให้กินยาเสมอ และกินจนครบชุด รวม 5-7 วัน
          ส่วนอาการอื่นๆ เช่น ไข้ จะได้รับยาแก้ไข้เช่นเดียวกับโรคหวัด ให้กินเฉพาะเวลาตัวร้อนห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

          อาการไอนั้น ในโรคปอดบวมจะไอได้มากกว่าโรคหวัด ยาที่กินอาจเป็นยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะ บางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ยาขยายหลอดลมด้วย ห้ามกินยากดไม่ให้ไอหรือยาแก้แพ้ หรือยาแก้ไอสำเร็จรูปที่มีตัวยาตั้งแต่ 3 อย่างขึ้นไป เพราะแทนที่จะมีประโยชน์อาจเป็นโทษ เช่น ทำให้เด็กไอไม่ออก เสมหะที่มีมากอาจตกเข้าไปค้างในหลอดลมทำให้ปอดแฟบได้

          นอกจากนี้ให้ผู้ป่วยได้กินน้ำบ่อยๆ ไม่ลดอาหาร ทำเช่นเดียวกับโรคหวัด พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงเด็กต้องคอยดูอาการ ถ้าอาการมากขึ้นจะต้องพาไปพบแพทย์ใหม่ หรือ 2 วันแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นก็ต้องพาไปตรวจอีก โดยมากควรพาไปตรวจอีกครั้งเมื่อครบ 2 วัน ส่วนมากอาการจะดีขึ้น และค่อยๆ หายใน 1 อาทิตย์ อาการที่ไม่ดีขึ้นหรือเลงลงได้แก่ หอบมากขึ้น หายใจต้องออกแรงมากขึ้นหรือมีอาการของภาวะป่วยหนักอื่นๆ เช่น เด็กซึม ไม่กินนมน้ำ ชัก ซึ่งจะต้องรักษาในโรงพยาบาล

          ในรายเป็นปอดบวมรุนแรงและรุนแรงมาก จะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลโดย
          - การฉีดยาปฏิชีวนะ อาจต้องให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือดในบางราย
          - อาจต้องให้ออกซิเจนในรายที่หายใจเหนื่อยมาก หรือริมฝีปากเขียว หรืออ่อนเพลีย ซึมไม่กินนมน้ำ
          - ถ้าอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
          โรคปอดบวมมีอันตรายมากในผู้ป่วยเหล่านี้
          1. อายุน้อย โดยเฉพาะในขวบแรก
          2. เป็นเด็กน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย หรือเด็กขาดอาหาร
          3. มีความพิการ โดยเฉพาะหัวใจพิการแต่กำเนิด
          4. เชื้อที่เป็นสาเหตุเป็นชนิดรุนแรง โดยเฉพาะเชื้อบักเตรี
          5. มารับการรักษาช้าไป

          การป้องกันโรคปอดบวม
          ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนที่เหมาะสม เพราะโรคปอดบวมในเด็กเกิดได้จากเชื้อบักเตรีหลายชนิดและเชื้อไวรัสหลายชนิด วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถครอบคลุมเชื้อหลายชนิดได้ แม้จะฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวมหลายเข็ม ก็ป้องกันโรคได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นการป้องกันจึงใช้วิธีหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ เช่นเดียวกับการป้องกันโรคหวัด ได้แก่
          - หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวม โดยเฉพาะเด็กทารกถ้าเป็นปอดบวมจะมีอันตรายมาก
          - หลีกเลี่ยงมลภาวะที่เป็นพิษ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันท่อไอเสียรถยนต์ และหมอกควันในอากาศ
          - ในเด็กอ่อนเดือน ต้องไม่ให้สัมผัสกับความหนาวเย็น
          - นอกจากนี้ต้องเลี้ยงดูเด็กให้แข็งแรง กินอาหารที่มีคุณค่า ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข และเด็กทุกคนควรเกิดมาแข็งแรง ไม่พิการ แม่ควรฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ ควรวางแผนครอบครัวก่อนจะมีลูกด้วย

           * ถ้ามีอาการสงสัยว่าจะเป็นปอดบวม ให้รีบพาไปตรวจ เพื่อเด็กจะได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก อันตรายจะน้อยลง

ที่มา http://www.thaigoodview.com/node/41987

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น