งูสวัดรักษาอย่างไร
ยารักษางูสวัด (หมอชาวบ้าน)
“การป้องกันการเป็นงูสวัดก็คือ การรักษาสุขภาวะของร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ”
“การป้องกันการเป็นงูสวัดก็คือ การรักษาสุขภาวะของร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ”
โรคงูสวัด เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ้างในประเทศไทย มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อ Varicella zoster virus หรือเรียกย่อ ๆ ว่า VZV เชื้อชนิดนี้ทำให้เกิดโรคในคนได้ 2 โรค คือ โรคอีสุกอีใส และโรคงูสวัด
ครั้งแรกเป็น “อีสุกอีใส”
เมื่อร่างกายของเราได้สัมผัสเชื้อไวรัสชนิดนี้ในครั้งแรก มักจะมีอาการไข้ ตัวร้อนมาก่อนสัก 2-3 วันแล้วจึงเริ่มมีตุ่มน้ำใสเต่ง ๆ รูปร่างของตุ่มน้ำใสจะคล้ายหยดน้ำบนใบบัว ขึ้นกระจายทั่วตัว และขึ้นเป็นรุ่น ๆ เป็นระลอก ๆ หลายรุ่น เมื่อเราสังเกตช่วงใดช่วงหนึ่งของโรคนี้จะพบเห็น “ตุ่มสุก ตุ่มใส” (ตุ่มน้ำใสทั้งที่เพิ่งเริ่มเป็น และตุ่มน้ำใสที่เต่งเต็มที่แล้ว) กระจายอยู่ทั้งร่างกาย ชาวบ้านจึงเรียกโรคนี้ว่า “โรคอีสุกอีใส” (ปัจจุบันบางคนมีความเห็นว่า “อี” เป็นคำที่ไม่สุภาพ จึงตัดคำว่า “อี” ออกเสีย และเรียกโรคนี้ว่า “โรคสุกใส”)
ครั้งที่สองเป็น “งูสวัด”
เชื้อไวรัส VZV นี้เมื่อเริ่มเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส ซึ่งมักเกิดในเด็ก และจะหายได้เอง ภายใน 1-2 สัปดาห์ เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสชนิดนี้จะไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกาย และรอเวลาที่เหมาะสมกับการเพิ่มจำนวนของไวรัส หรือเวลาที่ร่างกายอ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันลดลง อดนอน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสส่วนใหญ่จะใช้เวลานานเป็นสิบ ๆ ปี หลังจากที่เป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว และพบมากในผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุ บางคนจะมีภูมิต้านทานลดต่ำลงหรืออ่อนแอลง
เมื่อร่างกายอ่อนเพลีย ไวรัสที่หลบอยู่ ณ ปมประสาทก็จะกลับออกมาเพิ่มจำนวนอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้จะแสดงอาการของ “โรคงูสวัด”
ดังนั้น งูสวัด จึงมีสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัส VZV ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เพียงแต่ว่าเมื่อเป็นครั้งแรกจะเป็น “โรคอีสุกอีใส” แต่เมื่อกลับมาเป็นอีก จะเป็น “โรคงูสวัด” นั่นเอง (การใช้ยารักษาก็เป็นเช่นเดียวกัน)
งูสวัด…มักเป็นในช่วงที่ร่างกายอ่อนเพลีย
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว จะมีเชื้อไวรัส VZV สะสมหลบซ่อนอยู่ในร่างกาย พร้อมทั้งคอยรอเวลาว่าเมื่อใดที่ร่างกายของเราอ่อนเพลีย หรือมีภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง เชื้อไวรัสชนิดนี้จะฉวยโอกาสออกมาเพิ่มจำนวนอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เกิดเป็นงูสวัดได้
ดังนั้นวิธีง่าย ๆ ในการป้องกันการเป็นงูสวัด ก็คือการรักษาสุขภาวะที่ดีของร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และมีภูมิต้านทานโรคที่ดี เชื้อไวรัสก็จะไม่ออกมาเพิ่มจำนวน และแสดงอาการของโรคอีกได้
อาการสำคัญของโรคงูสวัด
อาการของโรคงูสวัด แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
เริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบร้อนลึก ๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้ ทั้งนี้เพราะช่วงนี้ภูมิต้านทานของร่างกายลดต่ำลง ทำให้เชื้อไวรัสเริ่มเพิ่มจำนวน เกิดการติดเชื้อ ณ ระบบประสาท จึงมีอาการปวดแสบร้อนลึก ๆ ในระดับเส้นประสาท
หลังจากที่ปวดแสบร้อนได้ประมา 2-3 วัน จะเข้าสู่ระยะที่ 2 เริ่มมีผื่นแดง ต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำใสเต่ง ๆ (รูปร่างคล้ายหยดน้ำกลิ้งบนใบบัว) เรียงกันเป็นกลุ่ม ๆ เป็นแนวยาว ๆ ตามเส้นประสาทของร่างกายเป็นหย่อม ๆ เช่น ตามความยาวของแขน หรือตามความยาวของขา หรือรอบเอว รอบหลัง หรือศีรษะ เป็นต้น ตุ้มน้ำใสเต่ง ๆ ของงูสวัดนี้จะแตกออกเป็นแผลต่อมาก็จะตกสะเก็ด และหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์
เมื่อตุ่มแตก และแผลหายดีแล้ว (ระยะที่ 3) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังมีอาการปวดแสบร้อนลึก ๆ ตามรอยแนวของโรคที่เกิดขึ้น ในบางคนอาจเกิดได้อีกเป็นเดือน หรือหลาย ๆ เดือน โดยเฉพาะผู้สูงอายุบางคนอาจมีอาการปวดแสบร้อนลึก ๆ หลังจากที่แผลหายดีแล้วเป็นปี ๆ
งูสวัด…ถ้าพันรอบเอวจะตาย…จริงหรือ?
เนื่องจากรอยโรคของงูสวัด ส่วนใหญ่จะเป็นตุ่มน้ำใสเต่ง ๆ เรียงเป็นกลุ่ม ๆ เป็นแนวยาวตามเส้นประสาทซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น จากประสบการณ์กว่า 20 ปี ยังไม่เคยพบผู้ที่เป็นงูสวัดทั้ง 2 ด้านของร่างกายเลย (ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลียมาก ๆ หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อเป็นงูสวัดแล้ว โรคจะลุกลามมากกว่าปกติ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้)
ผู้ป่วยทั่วไปที่เป็นงูสวัดมักจะหายได้เอง เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายเมื่อพบว่า ไวรัสมารุกราน ก็จะเริ่มกระบวนการทำงานและจัดการกับเชื้อไวรัสได้ในที่สุด จึงไม่เคยพบงูสวัดชนิดที่เป็น 2 ด้าน หรือพันรอบเอว
นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นงูสวัดก็จะหายเองเป็นปกติ แต่ต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์ และไม่เคยพบคนตายจากงูสวัดเลย
สรุป “งูสวัด…ถ้าพันรอบเอวจะตาย…จริงหรือ?” เป็นความเชื่อ…แต่ไม่เป็นความจริง
ยารักษางูสวัด…มีจริงหรือ?
ปัจจุบันมียาต้านไวรัสชื่อ อะซัยโคลเวียร์ (acyclovir) ซึ่งมีการใช้ยานี้มากว่า 20 ปีแล้ว เป็นยาที่ได้ผลดี “โรคงูสวัดมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อ Varicella zoster virus หรือเรียกย่อ ๆ ว่า VZV” เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส VZV จึงได้ผลดีทั้งผู้ป่วยโรคงูสวัดและอีสุกอีใส (รวมถึงโรคเริมด้วย) มีทั้งรูปแบบยาเม็ดยาแคปซูล ยาทา และยาฉีด
แต่ยานี้เป็นยาที่แปลกกว่ายาอื่นในแง่วิธีใช้ เพราะยาชนิดนี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย แถมมีระยะเวลาออกฤทธิ์ในร่างกายสั้น จึงมีวิธีใช้ที่มีความถี่มากกว่ายาทั่วไป ในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคงูสวัดและอีสุกอีใส ควรได้รับยาเม็ดในขนาด 800 มิลลิกรัม กินวันละ 5 ครั้งทุก 4 ชั่วโมง (ยกเว้นเวลากลางคืน) และควรใช้ติดต่อกันนาน 7-10 วัน
นอกจากยาชนิดกินแล้ว ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจให้ยาแก่ผู้ป่วยในรูปแบบของยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยตรง ขนาดครั้งละ 500 มิลลิกรัม หยดเข้าสู่หลอดเลือดดำวันละ 5 ครั้ง และควรใช้ติดต่อกันนาน 7-10 วันเช่นกัน
ส่วนยาอะซัยโคลเวียร์ชนิดครีมทาภายนอกนั้น ไว้ใช้สำหรับโรคเริม แต่ใช้ไม่ได้ผลกับงูสวัดและอีสุกอีใส
นอกจากยาอะซัยโคลเวียร์แล้ว ยังมียาอีก 2 ชนิด คือ วาลาซิโคลเวียร์ (valaciclover) และแฟมซิโคลเวียร์ (famciclovir) ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนกับยาอะซัยโคลเวียร์ แต่มีข้อดีกว่าคือ กินวันละ 3 ครั้งเท่านั้น (ยาอะซัยโคลเวียร์ ต้องกินวันละ 5 ครั้ง)
อย่างไรก็ตามยาทั้ง 2 ครั้ง (วาลาซิโคลเวียร์และแฟมซิโคลเวียร์) ยังมีราคาค่อนข้างสูง เพราะมีแต่ผู้ผลิตต้นตำรับของแต่ละรายเท่านั้น ไม่เหมือนกับยาอะซัยโคลเวียร์ ที่ปัจจุบันหมดสิทธิบัตรคุ้มครองเอกสิทธิ์ของยาแล้ว (น่าจะเรียกว่า “ผูกขาด” มากกว่า) หลังจากที่หมดสิทธิบัตร ทำให้มีผู้ผลิตจำนวนมากผลิตยาอะซัยโคลเวียร์ออกสู่ตลาด ส่งผลให้ราคายาชนิดนี้ถูกลงจากเดิมหลายเท่าตัว และเมื่อใช้ยาเหล่านี้แล้วก็ได้ ผลดีในการรักษาเหมือนเช่นเดิม
ถึงตอนนี้ขอตั้งข้อสังเกตเล็กน้อยว่า “เมื่อยาหมดสิทธิบัตรแล้ว ราคายาจะถูกลงมาก”
จะให้ได้ผลดี…ควรเริ่มใช้ยาอะซัยโคลเวียร์ให้เร็วที่สุด เนื่องจากยานี้มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส ยาจึงมีประโยชน์ในช่วงที่ไวรัสกำลังเพิ่มจำนวน คือตั้งแต่เริ่มมีอาการปวดแสบปวดร้อนในระยะแรก (ยังไม่ขึ้นตุ่มน้ำใส) จนถึงระยะที่ 2 ก่อนที่ตุ่มน้ำใสจะแตกออกโดยทั่วไปจึงแนะนำว่า ควรใช้หลังจากพบตุ่มน้ำใสแล้วไม่เกิน 2-3 วันจึงจะได้ผลดีที่สุด
ตัวอย่างเช่น มีผู้ป่วยรายหนึ่งมีอาการปวดหัวบริเวณกลางกระหม่อม และที่หน้าผากมาประมาณ 2-3 วัน ต่อมามีผื่นขึ้นที่กลางกระหม่อม และลามมาที่หน้าผาก เป็นตุ้มน้ำใสเต่ง ๆ คาดว่าต่อไปเชื้อไวรัสอาจลามมาที่ตา และอาจส่งผลต่อการมองเห็นได้
ในรายนี้เมื่อผู้ป่วยได้รับเป็นยาอะซัยโคลเวียร์ชนิดเม็ด ขนาด 800 มิลลิกรัม กินวันละ 5 ครั้ง (ทุก 4 ชั่วโมง) เมื่อได้ใช้ยาไปเพียง 1-2 วัน ตุ่มน้ำใสก็หยุดการลุกลาม และหยุดอยู่แค่ที่หน้าผาก (ยังไม่ลามเข้าที่หนังตาและลูกตา) พร้อมทั้งตุ่มน้ำใสเริ่มเหี่ยวลง ไม่เต่งเหมือนเดิม เมื่อใช้ยาต่ออีก 4-5 วัน ก็ตกสะเก็ด ต่อมาจึงหายเป็นปกติ
ดังนั้น การใช้ยาชนิดนี้เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส จึงควรให้ยาให้เร็วที่สุด เพื่อหยุดการลุกลามของโรค แต่ถ้าโรคงูสวัดลุกลามเต็มที่แล้ว เช่น เมื่อผู้ป่วยเริ่มตกสะเก็ดแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้ หรือใช้ยานี้แล้ว ก็จะไม่เกิดประโยชน์ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสแต่อย่างไร กลับเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุอีกด้วย
การใช้ยาทุกครั้งจะต้องมองถึงความคุ้มค่า และใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
เป็นงูสวัดไปรักษากับหมอจีน ดีไหม?
อีกประเด็นหนึ่งที่พบได้บ่อยเมื่อผู้ป่วยเป็นงูสวัด คือ การไปรักษาแบบแพทย์แผนจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมจ่ายยาสมุนไพรมาปิดพอกทับที่ตุ่มและแผลของงูสวัด
จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า การนำสมุนไพรจีนมาพอกปิดที่ตุ่มน้ำใส และแผลของงูสวัดนั้นเกิดประโยชน์น้อย ไม่คุ้มค่า คืออาจจะช่วยบรรเทาอาการได้บ้าง แต่ผลเสียที่ตามมาค่อนข้างมาก คือมักทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนทีแผลของงูสวัด และทำให้แผลหายช้าลงกว่าปกติ
ปัจจุบันจึงไม่แนะนำให้ไปพอกยาจีนที่ตุ่มและแผลของงูสวัดแล้ว ประกอบกับมียาแผนปัจจุบันที่ได้ผลดีกว่าอย่างชัดเจน ถ้าผู้ป่วยงูสวัดที่ต้องการใช้ยา จึงแนะนำให้ใช้ยาอะซัยโคลเวียร์เป็นดีที่สุด “คุ้มค่าปลอดภัย และประหยัด”
การดูแลแผลของูสวัด
นอกจากนี้ เมื่อตุ่มน้ำใสแตกเป็นแผลเปิด ก็ควรดูแลสุขอนามัยของแผลเช่นเดียวกับแผลทั่วไป เช่น การล้างแผลและทำแผลให้สะอาด ปราศจากเชื้อแบคทีเรียในรายที่มีแผลเป็นจำนวนมาก อาจพิจาณาเลือกใช้ยาปฏิชีวนะคล็อกซาซิลลิน (cloxacillin) เพื่อช่วยลดการติดเชื้อแบคทีเรีย ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ควรไปแกะเกาที่ตุ้มน้ำใสหรือแผล เพราะจะทำให้ลุกลามเป็นมากขึ้น หายยากขึ้นด้วย
ที่มา kapook.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น