โรคตับแข็งเกิดจากอะไร
โรคตับแข็ง (Liver cirrhosis) เป็นโรคพบได้บ่อยโรคหนึ่ง โอกาสเกิดในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน เป็นโรคพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูง อายุ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ แต่โดยทั่วไป เป็นโรคของผู้ใหญ่
โรคตับแข็งจัดเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งค่อนข้างรุนแรง โดยในยุโรปพบอัตราการเสียชีวิตจากโรคตับแข็งที่ 10 ปี นับจากมีอาการ สูงประมาณ 34-66% และในสหรัฐอเมริกา เป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นลำดับที่ 12 ในผู้หญิง และลำดับที่ 10 ในผู้ชาย
ตับเป็นอวัยวะสำคัญอวัยวะหนึ่ง มีหน้าที่หลายๆอย่าง ซึ่งเมื่อเกิดเป็นโรคตับแข็ง การทำงานของตับจะลดลง จึงก่อให้เกิดอาการต่างๆขึ้น
หน้าที่ของตับที่สำคัญ คือ ช่วยการสร้างโปรตีน กำจัดของเสียออกจากร่าง กาย สร้างน้ำย่อยอาหารเพื่อการดูดซึมไขมัน (น้ำดี) ช่วยสร้างสารภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรค ช่วยสร้างสารเพื่อการแข็งตัวของเลือด และเป็นแหล่งสะสมน้ำตาลให้ร่างกายเพื่อนำมาใช้เมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ
โรคตับแข็งเกิดได้อย่างไร?
โรคตับแข็ง เกิดจากการที่เนื้อเยื่อตับบาดเจ็บและถูกทำลายจากการ อักเสบเรื้อรังจากสาเหตุต่างๆ เนื้อเยื่อตับจึงกลายเป็นพังผืด ทำให้ตับสูญเสียการทำงาน โดยเมื่อเริ่มเกิดโรค ตับจะมีขนาดปกติได้ แต่ต่อมา เมื่อการอักเสบมากขึ้นจึงเกิดการบวมของเนื้อเยื่อตับ ตับจะโตคลำได้ (ปกติจะคลำตับไม่ได้ เพราะอยู่ใต้ชายโครง) แต่เมื่อการอักเสบเรื้อรัง เนื้อเยื่อตับเป็นพังผืดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื้อเยื่อตับจึงแข็งขึ้น (เป็นที่มาของคำว่า โรคตับแข็ง) และขนาดของตับจะหดเล็กลงเรื่อยๆ นอกจากนั้น เนื้อเยื่อตับที่เหลืออยู่ จะพยายามซ่อมแซมตัวเอง จึงเกิดเป็นปุ่มก้อนเนื้อขึ้น เมื่อร่วมกับการเกิดพังผืด จึงก่อให้ตับแข็งมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำทั่วทั้งตับ
โรคตับแข็งมีสาเหตุจากอะไร ?
สาเหตุ หรือ ปัจจัยเสี่ยง ต่อการเกิดโรคตับแข็ง มีได้มากมาย แต่ที่พบบ่อย คือ
- จากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดย 60-70% ของตับแข็งเกิดจากสาเหตุนี้
- จาก โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ โรคไวรัสตับอักเสบ ซี (เป็นสาเหตุประมาณ 10%)
- จากภาวะร่างกายมีเกลือแร่ (ธาตุ) เหล็กสูง เหล็กจึงไปสะสมในตับ ส่งผลให้เกิดตับแข็ง เช่น ใน โรคธาลัสซีเมีย(เป็นสาเหตุประมาณ 5-10%)
- จากโรคต่างๆของท่อน้ำดี (เป็นสาเหตุประมาณ 10%) เช่น ท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรังจาก โรคภูมิแพ้ตนเอง (ภูมิต้านตนเอง) หรือ ท่อน้ำน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด
- จากโรค หรือ ภาวะอื่นๆ เช่น ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด (เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง หรือ ยารักษาวัณโรค หรือ วิตามินเอเสริมอาหารปริมาณสูง) จาก โรคภูมิแพ้ตนเอง จากโรคไขมันพอกตับ (มักพบในคนอ้วน) จากตับติดเชื้อบางชนิด เช่น ติดเชื้อพยาธิใบไม้เลือด (Schistosomiasis พยาธิใบไม้ชนิดอาศัยอยู่ในหลอดเลือด) และจากโรคหัวใจล้มเหลว (ทั้งหมดเป็นสาเหตุรวมกันแล้วประมาณ 5%)
โรคตับแข็งมีอาการอย่างไร?
อาการที่พบได้บ่อยในโรคตับแข็ง คือ ไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค ต่อเมื่อเป็นมากแล้วจึงมีอาการ ซึ่งที่พบบ่อย คือ
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร ผอมลง คลื่นไส้
- อาจมีเส้นเลือดฝอยเกิดมากผิดปกติตามตัว และในฝ่ามือ
- อาจมีตัว/ตาเหลือง (ดีซ่าน) จากการคั่งของสารสีเหลือง (บิลิรูบิน/Bilirubin) ซึ่งสร้างจากตับ (ปกติตับขับออกทางปัสสาวะ และน้ำดี) และอาการคันตามตัว เพราะสารสีเหลืองจากตับก่อการระคายต่อผิวหนัง หายใจมีกลิ่นจากสารของเสียที่สะสมในร่างกายเพราะตับกำจัดออกไม่ได้
- ห้อเลือดง่าย เลือดออกแล้วหยุดยาก จากขาดสารช่วยการแข็งตัวของเลือดซึ่งสร้างจากตับ
- ติดเชื้อต่างๆง่าย เพราะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลงจากตับทำงานได้ลดลง
- บวมหน้า มือ เท้า ท้อง เพราะโปรตีนในเลือดลดลงจากตับทำงานลดลง และความดันเลือดดำในตับสูงขึ้นจากการเกิดพังผืดของตับ จึงเกิดน้ำคั่งในท้อง
- หลอดเลือดดำของอวัยวะต่างๆในท้องขยายตัว จากความดันเลือดดำในตับสูงขึ้น จึงแตกได้ง่าย ที่สำคัญ คือ หลอดเลือดดำของหลอดอาหาร ส่งผลให้อาเจียนเป็นเลือด
- ม้ามโต จากมีเลือดคั่งเพราะความดันเลือดในตับสูงขึ้น นอกจากนั้นม้ามจะทำลายเม็ดเลือดแดงได้สูงขึ้น จึงเกิด ภาวะซีด
- โรคไตวาย จากมีความดันเลือดในตับสูงขึ้น ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง
- ระยะสุดท้าย เมื่อตับเสียการทำงานมากขึ้น สารของเสียเพิ่มมากขึ้น จึงส่ง ผลถึงสมอง เกิดภาวะมือสั่น และเกิดตับวายในที่สุด ส่งผลให้ สับสน และโคม่า
แพทย์วินิจฉัยโรคตับแข็งได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคตับแข็ง ได้จาก ประวัติอาการ ประวัติดื่มสุรา หรือประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น การใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย ตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับ ตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ ตรวจชิ้นเนื้อจากตับ โดย การตรวจทางพยาธิวิทยา และการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
รักษาโรคตับแข็งได้อย่างไร?
เมื่อเกิดโรคตับแข็งแล้ว ไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ การรักษาจึงเพื่อ หยุด หรือ ชะลอการทำลายของเนื้อเยื่อตับ ซึ่งได้แก่
- การรักษาสาเหตุ เช่น รักษาโรคหัวใจเมื่อมีโรคหัวใจเป็นสาเหตุ
- การเลิก หรือ หลีกเลี่ยงสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น เลิกดื่มสุรา และไม่ซื้อยากินเอง
- นอกจากนั้น คือ รักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาขับน้ำเมื่อมีอาการบวม และการรักษาผลข้างเคียงต่างๆจากโรคตับแข็ง
- เมื่อตับทำงานได้ต่ำมาก การรักษา คือ การปลูกถ่ายตับ ซึ่งมีข้อจำกัดมาก จากการขาดแคลนผู้บริจาคตับ ปลูกถ่ายได้ผลเฉพาะในบางคนที่แข็งแรงไม่มีโรคประจำตัวเท่านั้น และจากค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ยังสูงมาก
มีผลข้างเคียงจากโรคตับแข็งไหม?
ผลข้างเคียงจากโรคตับแข็ง คือ คุณภาพชีวิตลดลงจากโรคและอาการต่างๆที่พบบ่อย คือ ภาวะซีด ติดเชื้อได้ง่าย แน่นอึดอัดท้อง จากม้ามโตและ/หรือมีน้ำในท้อง อาเจียนเป็นเลือด และไตวาย
โรคตับแข็งรุนแรงไหม?
โรคตับแข็ง เป็นโรคเรื้อรังรุนแรง เพราะเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต จากภาวะตับวาย และจากผลข้างเคียง เช่น ติดเชื้อรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด และไตวาย
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ดังกล่าวแล้วว่า เมื่อเริ่มเป็นตับแข็ง จะไม่มีอาการ ดังนั้นแพทย์สามารถตรวจพบโรคได้เมื่อเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี หรือ ควรตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ เมื่อมีปัจจัยเสี่ยง ดังกล่าว นอกจากนั้น คือ รีบพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติดัง กล่าว
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคตับแข็ง ที่สำคัญ คือ
- ปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
- รักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
- กิน อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ให้ครบทุกวัน
- หลีกเลี่ยง และเลิกปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ฉีดวัคซีนป้องกัน โรคไวรัสตับอักเสบ ตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
- พบแพทย์ตรงตามนัด และรีบพบก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือ เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคตับแข็งได้อย่างไร?
การป้องกันโรคตับแข็ง คือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญ คือ ไม่ดื่ม/เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ บี และ ไวรัสตับอักเสบ ซี รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ และไม่ซื้อยากินเอง อย่างน้อยควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- Cirrhosis. http://en.wikipedia.org/wiki/Cirrhosis [2011, June 1].
- Heidelbaugh, J., and Bruderly, M. (2006). Cirrhosis and chronic liver failure: part I. Diagnosis and evaluation. Am Fam physician, 74, 756-762.
- Heidelbaugh, J., and Sherbondy, M. (2006). Cirrhosis and chronic liver failure: part II. Complications and treatment. Am Fam Physician, 74, 767-776.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์ พบ.
วว. รังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลีย
วว. รังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลีย
ภาพ อินเตอร์เน็ต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น