บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โรคลมชักเกิดจากอะไร


โรคลมชักเกิดจากอะไร

คงต้องแยกคำ 2 คำ นี้ก่อนคือ คำว่า อาการชัก (seizure) และ โรคลมชัก (epilepsy) สำหรับคำว่า อาการชักนั้น หมายถึง ภาวะที่มีกระแสไฟฟ้าซึ่งผิดปรกติที่ก่อให้เกิดอาการชักวิ่งผ่านเนื้อสมอง แล้วทำให้เกิดอาการแสดงของอาการชัก ในรูปแบบต่างๆ เช่น อาการเกร็งกระตุก อย่างที่บางท่านอาจจะเคยเห็น แต่ก็ยังมี อาการชักบางรูปแบบที่ไม่มีอาการเกร็งกระตุก ซึ่งจะกล่าวถึงในเรื่องของประเภทของอาการชัก


ส่วนคำว่าโรคลมชักนั้น หมายถึง อาการชักที่เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยที่ไม่มีสิ่งกระตุ้น (unprovoked seizure)  อาการบางอย่างที่คล้ายกับอาการชักมีอะไรบ้าง ถ้าผู้ป่วยหมดสติชั่วครู่ พร้อมกับอาการเกร็ง คงต้องแยกจากอาการเป็นลม (syncope) แต่สิ่งที่สำคัญที่อาจใช้แยกอาการชัก ออกจากอาการเป็นลม คือ ถ้ามีอาการกระตุกร่วมด้วย บ่งว่าน่าจะเป็นอาการชัก และถ้าเป็นอาการชัก ช่วงหลังจากหมดสติไป ผู้ป่วยจะยังไม่รู้สึกตัวทันที ส่วนใหญ่จะมีอาการสับสนอยู่อย่างน้อยครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง และในบางรายอาจมีอ่อนแรงของแขนขาครึ่งซีกได้ ส่วนอาการเป็นลมเมื่อฟื้นขึ้นมาจะรู้ตัวทันที ไม่มีแขนขาอ่อนแรง

ถ้าผู้ป่วยมีแต่อาการเกร็ง และหรือ เกร็งกระตุกของแขนขา โดยที่ไม่หมดสติ คงต้องแยกอาการชัก ออกจาก การเคลื่อนไหวผิดปรกติในรูปแบบต่างๆ ซึ่งไม่ใช่อาการชัก จะเห็นได้ว่าอาการชักบางรูปแบบไม่จำเป็นต้องหมดสติเสมอไป

สรุปลักษณะสำคัญของอาการชัก คือ

  – อาการกระตุกของแขนขา โดยเฉพาะถ้าเป็นครึ่งซีกของแขนขาด้านใดด้านหนึ่ง
    – เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และอาจเกิดขึ้นซ้ำเป็นๆหายๆ (paroxysmal symptom)
   - มีอาการลามของการกระตุก (marching) เช่น จากแขนและมือไปมุมปากด้านเดียวกัน
  – เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ (brief interval ) ส่วนใหญ่ประมาณ 1-2 นาที ไม่ควรเกิน 5-10 นาที
    – รูปแบบของอาการชักเป็นลักษณะเดียวกันซ้ำๆ (stereotyped) เช่น มือและแขนซ้ายกระตุกพร้อมกับมุมปากซ้ายเป็นๆหายๆ
  – มักมีอาการสับสนหลังจากฟื้นจากหมดสติ

ประเภทของอาการชัก มีการแบ่งรูปแบบของอาการชักได้หลายแบบ แบ่งง่ายๆ ตามรูปแบบของอาการแสดงขณะชัก (seizure semiology) ได้ดังนี้

 1. อาการนำ (aura) เช่น รู้สึกไม่สบายในท้อง ( abdominal aura ), อาการได้กลิ่นแปลกๆ (olfactory aura) , ความรู้สึกกลัวหรือกังวลโดยไม่ทราบสาเหตุ (fear aura)

2. อาการแสดงของระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปรกติ (autonomic seizure) เช่น มีอาการหัวใจเต้นเร็วที่สามารถตรวจพบได้จริง
3. อาการชักที่มีอาการหมดสติ (dialeptic seizure) ซึ่งไม่มีอาการเกร็งหรือกระตุกของแขนขาก็ได้

4. อาการชักที่มีการเกร็ง และหรือกระตุกของแขนขา (motor seizure) จะเห็นได้ว่าอาการชักหรือโรคลมชักนั้นไม่จำเป็นต้องมีอาการเกร็ง หรือกระตุกของแขนขาเสมอไป อาจจะหมดสติหรือไม่ก็ได้

ถ้าสงสัยว่ามีอาการของโรคลมชักควรทำอย่างไร และถ้าพบเห็นคนกำลังชัก จะช่วยเหลืออย่างไร ถ้าสงสัยว่ามีอาการชักควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ได้เห็นอาการขณะที่กำลังเป็นถ้าเป็นไปได้ ถ้าอาการที่เป็นไม่เกิดในขณะที่พบแพทย์ก็ควรเล่าอาการที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด ให้แพทย์ฟังเพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยแยกโรคต่อไป

หลังจากนั้นแพทย์จะต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปรกติของเกลือแร่ต่างๆ ในเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) การเอ็กซเรย์สมอง (CT, MRI) เป็นต้น ถ้าพบคนกำลังมีอาการชัก ให้รีบจับผู้ป่วยนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ไห้สำลักเศษอาหารเข้าปอด ปลดเสื้อผ้าไม่ไห้แน่นเกินไป จัดการสถานที่ให้โปร่งโล่ง หายใจได้สะดวก ไม่จำเป็นต้องเอาสิ่ง ของใดๆ ใส่ปากเพื่อกันผู้ป่วยกัดลิ้น เพราะทำอันตรายให้กับผู้ป่วยมากกว่า หลังจากนั้นนำผู้ป่วยมาพบแพทย์

การรักษาโรคลมชัก แรกเริ่มคงต้องใช้ยากันชัก ปัจจุบันมียากันชักที่ผลิตออกมาใหม่มากมาย ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกันชักดีขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลง อย่างไรก็ตามการให้ยากันชักจะเริ่มจากยามาตรฐานรุ่นเก่าก่อน แล้วถ้ายังคุมอาการชักไม่ได้ ก็จะเพิ่มยากันชักรุ่นใหม่เข้าไป เนื่องจากยากันชักรุ่นใหม่ๆ มีราคาค่อนข้างแพง

การให้ยากันชักในผู้ป่วยแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของอาการชักในแต่ละคน นอกจากนี้การรับประทานยากันชักไม่ใช่ทานยาขนาดเท่าเดิม หรือชนิดเดิมไปตลอด จะต้องมีการปรับยาจนกระทั่งผู้ป่วยหยุดชัก ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ปรับยาให้ ในบางครั้งผู้ป่วยทานยากันชักแล้วมีอาการแพ้ยา หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนยาเช่นเดียวกัน

การผ่าตัดโรคลมชัก ปัจจุบันการรักษาโรคลมชักก้าวหน้าไปมากจนกระทั่ง โรคลมชักบางรูปแบบสามารถผ่าตัดได้ ซึ่งให้ผลการรักษาค่อนข้างดี แต่อย่างไรก็ตามใช่ว่าโรคลมชักทุกชนิดจะผ่าตัดได้ การรักษาส่วนใหญ่คงยังต้องใช้ยากันชักเป็นหลัก ในประเทศไทยที่ที่มีการผ่าตัดโรคลมชัก เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นต้น

ผลกระทบของอาการชักที่มีต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วยโรคลมชักแนะนำว่าผู้ป่วยโรคลมชักควรเลี่ยงจากงานที่เสี่ยง เช่น การทำงานในที่สูง งานขับรถทุกชนิด งานเครื่องจักรกล เป็นต้น จะเห็นได้ว่าโรคลมชักมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก จนบางครั้งมีผู้ป่วยบางรายไม่กล้าที่จะออกจากบ้านเพื่อเข้าสังคม นอกจากนี้ยังสร้างความลำบากในการดูแลให้กับญาติด้วย ดังนั้นการรักษาโรคลมชักที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยหยุดชัก แล้วกลับเข้าไปร่วมสังคมได้อย่างมีความสุข

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท แหล่งที่มา : http://www.phyathai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น